ยังไม่ฟันธง "ถูกยิง" เร่งติดตาม "ช้างป่าเขาอ่างฤาไน" บาดเจ็บ

สิ่งแวดล้อม
16 พ.ย. 64
14:14
469
Logo Thai PBS
ยังไม่ฟันธง "ถูกยิง" เร่งติดตาม "ช้างป่าเขาอ่างฤาไน" บาดเจ็บ
ระดมทีมเจ้าหน้าที่ สัตวแพทย์ ปูพรมตามรอยช้างป่า "หนูซิง" บาดเจ็บในป่าเขาอ่างฤาไน วางแผนให้ยาซึมประเมินการรักษา ขณะที่เพจอนุรักษ์คาดถูกยิงหลายจุดเจ็บสาหัส

จากกรณีเพจอนุรักษ์ โพสต์ภาพช้างป่า "หนูซิง" ระบุข้อความว่า "ช้างป่าเพศผู้ที่ถูกกระหน่ำยิงด้วยอาวุธปืนหลากหลายขนาดในพื้นที่ ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อกลางดึกของวันพุธ ที่ 10 พฤศจิกายน 2564"

วันนี้ (16 พ.ย.2564) นายวีระพงศ์ โคระวัตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีออนไลน์ ว่า ขณะนี้ระดมเจ้าหน้าที่ 10 กว่าคน และอาสาสมัครในชุมชน แบ่งเป็น 5 ชุดติดตามช้างป่า ร่วมกับทีมสัตวแพทย์จากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ และสัตวแพทย์ประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ติดตามช้างป่าตัวดังกล่าว

เบื้องต้นการเข้าตรวจสอบพื้นที่เมื่อวันที่ 12 พ.ย. พบว่าช้างป่าเพศผู้ อายุ 30 ปี ได้รับบาดเจ็บบริเวณโคนหาง หลังสองข้าง และลำคอ กลางงวง อยู่บริเวณป่ายูคา บ.ห้วยกระโด ม.14 ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

 

นายวีระพงศ์ กล่าวว่า พบช้างตัวดังกล่าวล่าสุดเมื่อวานนี้ในช่วงเช้า (15 พ.ย.) บริเวณไร่อ้อย ซึ่งทีมเจ้าหน้าที่ต้องเข้าให้ถึงตัวช้างเพื่อตรวจสอบและประเมินอาการบาดเจ็บที่ชัดเจน หากอยู่ตัวเดียวก็สามารถเข้าถึงตัวได้ง่าย รวมทั้งดูพื้นที่ว่าอยู่ในจุดที่เมื่อยิงยาซึมแล้วไม่เป็นอันตรายกับช้างหรือไม่ แต่หากอยู่กับฝูงช้างตัวอื่น ๆ ก็ทำงานได้ยาก

ต้องตามให้เจอ กลัวเขาเป็นอะไรมาก ต้องยิงยาซึมและเข้าถึงตัวช้าง จะเห็นบาดแผลว่าใหญ่ อักเสบมากรุนแรงมากแค่ไหน

วางแผนยิงยาซึม-ให้ยาครบโดส

สำหรับการรักษาต้องเข้าถึงตัวช้างด้วยการยิงยาซึม เพื่อประเมินลักษณะบาดแผลว่ารุนแรงมากเพียงใด อีกทั้งสามารถให้ยาได้ครบโดส ส่วนกรณีไม่ได้ยิงยาซึมจะให้ยาทางอาหาร ซึ่งวิธีหลังไม่สามารถกำหนดได้ว่าช้างจะกินหรือไม่ ขณะที่การยิงยาเพื่อทำการรักษาอาจต้องยิงสูงสุด 7 เข็ม และช้างอาจเตลิดจนได้รับยาไม่ครบโดส

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ทำความเข้าใจมาโดยตลอดเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งคนกับช้าง โดยเฉพาะการทำร้ายช้างด้วยวิธีใดก็ตาม ส่งผลช้างเกิดความเครียดและผลกระทบจะสะท้อนถึงคนในพื้นที่

การทำร้ายช้างไม่ว่าวิธีใดก็ตาม ทำให้เขาเครียด ผลกระทบจะสะท้อนกลับมาที่คน

ช้างป่าเพิ่มขึ้นปีละ 8.2 %

ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ พบว่า ปัจจุบันมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ 3,168-3,440 ตัว โดยอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง และมีแนวโน้มว่าประชากรช้างป่าในภาพรวมจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.2 ต่อปี

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของการอนุรักษ์ช้างป่าในปัจจุบัน ได้แก่ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ 41 แห่งทั่วประเทศ (อุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่ง)

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เร่งแก้ปัญหาคนกับช้าง เพิ่มแหล่งอาหาร-ดึงเข้าป่า

ขณะที่ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ระยอง ชลบุรี และสระแก้ว) ​ส่งผลกระทบให้กับชุมชนโดยรอบในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จำนวน 18 อำเภอ 45 ตำบล 292 หมู่บ้าน กรมอุทยานฯ ดำเนินงานแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการฟื้นฟูป่า พัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ทั้งพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่งให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อดึงช้างป่ากลับสู่ผืนป่าใหญ่ เช่น ปรับปรุงและฟื้นฟูทุ่งหญ้า เนื้อที่ 2,000 ไร่ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จัดทำแหล่งน้ำขนาดเล็กและฟื้นฟูบ่อน้ำ จัดทำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง (เป้าหมายแล้วเสร็จ ปี 2565) พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์และหอถังบรรจุน้ำ พื้นที่แปลงทุ่งหญ้า สร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ระบบนิเวศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง