ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พร้อมรับหลักการร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชน

การเมือง
16 พ.ย. 64
19:42
442
Logo Thai PBS
ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน พร้อมรับหลักการร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชน
การอภิปรายตลอดทั้งวัน ประมวลได้ว่า สมาชิกรัฐสภามีความเห็นต่อร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใน 2 แนวทาง คือ 1. พรรคฝ่ายค้าน เห็นชอบ-สนับสนุน และพร้อมลงมติรับหลักการ และ 2. คือ พรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภา แสดงทัศนะที่เป็นกังวลในข้อกฎหมายและผลทางปฏิบัติ

หากประมวลและจับประเด็นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ต่อร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยกลุ่ม Re-Solution ในวันนี้ จะเห็นได้ชัดว่ามี 2 กลุ่มความคิดใหญ่ คือ สมาชิกรัฐสภาที่เป็น ส.ส.จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่อภิปรายสนับสนุนพร้อมรับหลักการ

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล ขอสมาชิกรับหลักการ ร่างแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ถึงเหตุผลว่า หากไม่ยกเลิก ส.ว.จะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ จึงต้องเอา "ระบอบประยุทธ์" ออกไป ส่วนนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.พรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายไม่เห็นด้วย ที่ ส.ว.มีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และร่วมคัดเลือกกรรมการองค์กรอิสระ

รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เพื่อไทย แม้จะยืนยันรับหลักการแต่เห็นต่าง โดยให้ข้อสังเกตว่า ไม่ควรยกเลิก ส.ว.ในทันที แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เน้นย้ำให้ "รับหลักการ" ไว้ก่อน แล้วจะปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงในชั้นกรรมาธิการฯ กันอีกครั้งได้ ดังนั้นเวลานี้ต้องให้ความสำคัญกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอดความขัดแย้งและแตกแยกทางการเมือง

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง บอกว่า มีหลักคิดและท่าทีต่างออกไป ส่วนใหญ่กังวลต่อเนื้อหาของร่างแก้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ "ส.ว. และ ส.ส.พรรครัฐบาล" เช่น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ,พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ,นางกรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ,นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว. รวมถึงนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.

การไม่เห็นด้วยกับการยุบ ส.ว.เหลือสภาเดี่ยว ทำให้สภาผู้แทนฯ มีอำนาจล้นฟ้า และไม่เห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.เป็นคณะผู้ตรวจการกองทัพ ศาล องค์กรอิสระ หรือ กำหนดให้ ส.ส.ไปนั่งเป็นกรรมการใน กต.หรือ สภากลาโหม โดยนายคำนูณ ให้สมญานามว่า เป็นร่างฯ "ฉบับปฏิวัติ" และผลในทางปฏิบัติจะบั่นทอนความอิสระของศาล ลดทอนดุลอำนาจในองค์กรอิสระ อาจกลายเป็นระบอบเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร

หากตรวจสอบเสียงโหวตในรัฐสภาแล้ว ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน มีจำนวน 210 เสียง ส่วน ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล 266 เสียง, ส.ว.มีอยู่ 248 เสียง โดยประธานรัฐสภา "นัดโหวต" ในวันพรุ่งนี้ (17 พ.ย.2564) เวลา 10.00 น. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 (3) ของรัฐธรรมนูญ ให้ขานชื่อที่แต่ละคนในวาระรับหลักการ "รับหรือไม่รับ" ต้องมีเสียงเห็นชอบจากรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 363 ขึ้นไป จากทั้งหมด 724 คน และต้องมี สว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง