ไขคำตอบ “กระเช้าสีดา” ไม่ใช่กาฝาก เหมือนคำในละคร

สิ่งแวดล้อม
17 พ.ย. 64
17:51
8,558
Logo Thai PBS
ไขคำตอบ “กระเช้าสีดา” ไม่ใช่กาฝาก เหมือนคำในละคร
ไขทุกคำตอบ “กระเช้าสีดา” ไม้ที่มีอยู่จริงในไทยไม่ใช่แค่ในละคร นักพฤกษศาสตร์ ยืนยันเป็นไม้ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และไม่ใช่ต้นกาฝาก กลุ่มแรกเป็นไม้เถาในวงศ์ไก่ฟ้ามี 19 ชนิดพบ 8 ชนิดหายากพบในเขาหินปูน ส่วนกลุ่มเฟิร์นชื่อชายผ้าสีดา เป็นของป่าหวงห้าม

ต้นไม้ต้นนี้ ชื่อต้นกระเช้าสีดา เป็นกาฝากชนิดหนึ่ง และดำรงชีวิตได้ด้วยการเกาะ และดูดสารอาหารจากต้นไม้ กาฝากพวกนี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้

วลีเด็ดที่นางเอกในละคร เปรียบเทียบหญิงสาวที่รับบทร้ายว่าเหมือนกับต้นกระเช้าสีดา ที่เป็นกาฝากที่คอยกัดกินต้นไม้ใหญ่ ซึ่งจนถึงวันนี้กระแส #กระเช้าสีดา ละครฟีเวอร์ ยังติดเทรนด์คำค้นยอดนิยมในทวิตเตอร์ติดต่อกันหลายสัปดาห์ และไม่ได้อยู่บนโลกของละครในจอแก้วเท่านั้น

ความหมายของคำว่ากระเช้าสีดา ยังพูดถึงในโลกออนไลน์ ตั้งแต่การโพสต์ขายต้นกระเช้าสีดา ที่มีราคาตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักพัน รวมถึงการตั้งคำถามว่ากระเช้าสีดา คือกาฝากจริงหรือไม่?

ทำความรู้จักกระเช้าสีดา กับนักพฤกษศาสตร์ 

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายสมราน สุดดี นักพฤกษศาสตร์ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้คำตอบ “กระเช้าสีดา”ในมุมที่ถูกต้อง

นายสมราน บอกว่า ประเทศไทยมีการสำรวจพบต้นกระเช้าสีดา 2 กลุ่ม คือกระเช้าสีดาทั่วไปมี 19 ชนิดอยู่ในวงศ์ไก่ฟ้า มีลักษณะที่เป็นไม้เถา เวลาผลแก่แตกออกมาเหมือนสาแหรก เด็กๆมักชอบนำเอามาเล่นขายของ ซึ่งกระเช้าสีดาในกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม เป็นของที่อยู่มากับคนไทย 

สมัยเด็กๆกระเช้าสีดาบางชนิดพบเห็นข้างรั้วบ้าน เป็นเถาพันตามต้นไม้ ตามรั้ว บางชนิดมีกระเช้าขนาดเล็กที่เคยเล่นเอามาทำของเล่นคือกระเช้าผีมด ที่มีผลขนาด 2.7-4 ซม.เวลาแก่จะแตกออกเป็น 6 แฉก เด็กๆเอามาเล่นขายของกัน 

 

เฟิร์นกระเช้าสีดา-ชายผ้าสีดา ของป่าหวงห้าม 

นอกจากนี้กระเช้าสีดา ยังมีประวัติเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเดิมเป็นกระเช้าของนางสีดา ที่ทำตกไว้ในป่า ระหว่างที่ถูกยักษ์ทศกัณฐ์ อุ้มลักพาตัวไปจากพระราม เหล่าเทวดา จึงบันดาลให้รากงอกออกมากลายเป็นไม้เถาสืบมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงนางสีดาอีกด้วย

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นพวกเฟริ์น เรียกว่ากระเช้าสีดาได้เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะเรียกชายผ้าสีดา หรือห่อข้าวสีดามากกว่า ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ไม่ได้ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเหมือนกลุ่มแรก

กระเช้าสีดามักจะหมายถึงกลุ่มแรก เป็นไม้เถา เมื่อมีผลแล้วแตกเหมือนสาแหรกขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และกลุ่มเฟริ์นที่เรียกว่ากระเช้าสีดา ทั้งที่ชื่อว่า ชายผ้าสีดา แต่ก็ไม่ผิด

กระเช้าสีดาไม่ใช่กาฝาก อย่างที่ละครบอก?

นักพฤกษศาสตร์ กรมอุทยาน ระบุว่า กรณีที่ตัวละครเทียบว่ากระเช้าสีดาเป็นกาฝาก เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะลักษณะนิสัย ก็ไม่ใช่กาฝาก เพียงแต่ด้วยความที่เป็นไม้เถา ต้องเลื้อยเกาะไปบนต้นไม้อื่น เพื่อให้ใบได้รับแสง เพื่อให้ใบได้ออกดอก ผลิตผล จึงแค่อาศัย

แต่เป็นแค่การอาศัย อิงแอบเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัย ออกดอกออกผล แต่ไม่ได้ไปดูดน้ำเลี้ยงหรือทำลายสิ่งที่ตัวเองเกาะจนตาย

สถานภาพกระเช้าสีดาในไทยเสี่ยงสูญพันธุ์?

นายสมราน ยอมรับว่ากระเช้าสีดาทั่วไปในไทยมี 19 ชนิด ในจำนวนนี้ 8 ชนิดที่น่าเป็นห่วงเพราะต้องอาศัยระบบนิเวศจำเพาะพบในเขาหินปูน เพราะขึ้นน้อย และเจอเถายาก ประกอบด้วย กระทุงบวบเหลี่ยม พบบางพื้นที่เท่านั้น กระเช้าภูเก็ต พบที่จ.ภูเก็ต นกกระจิบ พบที่สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

ส่วนกระเช้าเชียงราย พบที่จ.เชียงราย กระเช้าคลองพนม พบที่อุทยานแห่งชาติคลองพนม จ.สุราษฎร์ธานี กระเช้าเมืองเพชร พบที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี ส่วนกระเช้าเขานางพันธุรัต พบที่เขานางพันธุรัต อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และกระเช้ายะลา พบที่จ.ยะลา

 

ส่วนกลุ่มเฟริ์น ที่เป็นไม้ประดับ และมีความสวยงาม มักพบปัญหาการลอบเก็บจากป่ามาขายตามชายแดน ดังนั้นจึงไม่อยากให้ปลูกเฟริ์นชนิดนี้ โดยเฉพาะที่ลอบเก็บออกมาจากป่าเท่ากับส่งเสริมคนทำผิด ดังนั้นทั้ง 2 กลุ่มจำเป็นต้องดูแลทั้งคู่ไม่ให้สูญพันธุ์ 

เกินครึ่งของกระเช้าสีดาในวงศ์ไก่ฟ้าที่อยู่ในพื้นที่จำเพาะเขาหินปูน และจำเป็นต้องดูแลอย่างดี เนื่องจากพืชในกลุ่มท่อลำเลียง 12,000 ชนิดในไทย ยังไม่มีการประกาศเป็นพืชหรือไม้คุ้มครอง ยกเว้นส่วนกลุ่มเฟริ์น ที่เป็นไม้ประดับ และมีความสวยงาม ที่มีการกำหนดเป็นของป่าหวงห้าม

สรรพคุณทางยาช่วยปรับธาตุ-แก้ไข้

นักพฤกษศาสตร์ กรมอุทยานฯ บอกว่า นอกจากนี้กระเช้าผีมด ยังมีสรรพคุณต้นเป็นยาอีกด้วย ซึ่งข้อมูลราชบัณทิตยสภา ที่ผู้เชี่ยวชาญเขียนสรรพคุณของกระเช้าผีมด พบว่า ต้นเป็นยาช่วยให้ธาตุปกติ และใบใช้ตำเป็นยาพอกภายนอก พอกศีรษะ ลดไข้ แก้ผิวหนัง เผาใบให้ร้อนวางบนท้องและแขนขาแก้บวม

สรรพคุณของกระเช้าผีมด ที่คนโบราณได้ใช้แล้วและการบันทึกไว้ แต่บางชนิดก็ยังไม่ได้มีการตรวจสอบ จึงต้องศึกษากระเช้าสีดาชนิดอื่นๆ เพราะพืชคอสมุนไพรหมด ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นยารักษามะเร็งได้ด้วย 

นายสมราน บอกว่า การศึกษาพันธุ์พืชบางชนิด อาจต้องใช้ทั้งชีวิตคน ที่อาจจะรู้ได้แค่วงศ์หรือ 2 วงศ์ไม้เท่านั้น ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยและคนที่ทำงานด้านพฤกษศาสตร์ก็นับตัวได้ในไทยมีไม่ถึง 100 คน

ขณะนี้กรมอุทยานฯ จากการตั้งห้องสมุดพันธุกรรมพืช มีตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ และตัวอย่างพืชที่เก็บไว้มากกว่า 200,000 ชนิดจากป่าในประเทศไทย จำนวนนี้บางชนิดอาจต้องใช้เวลาถึง 100 ปีหรือ 2 ชั่วอายุคนกว่าจะได้คำตอบและตั้งชื่อพันธุ์พืชชนิดใหม่ๆ

 

 รู้จักพืชวงศ์ไก่ฟ้า (Aristolochiaceae) 19 ชนิดในไทย 

  • Aristolochia acuminata (ชื่อพ้อง A. tagala) กระเช้าสีดา กระเช้าผีมด กระเช้ามด หาบกระเชอ
  • Aristolochia arenicola กอมก้อยลอดขอน 
  • Aristolochia baenzigeri กระทุงบวบเหลี่ยม
  • Aristolochia cambodiana กระเช้าปากเป็ด
  • Aristolochia curtisii กระเช้าภูเก็ต
  • Aristolochia dinghoui นกกระจิบ
  • Aristolochia grandis นกขมิ้น
  • Aristolochia hansenii กระเช้าเชียงราย
  • Aristolochia helix กระเช้าหนู
  • Aristolochia kongkandae กระเข้าคลองพนม
  • Aristolochia longeracemosa ไก่แจ้
  • Aristolochia perangustifolia กระเช้าใบแคบ
  • Aristolochia lochia phetchaburiensis กระเช้าเมืองเพชร 
  • Aristolochia phuphathanophongiana กระเช้านางพันธุรัต
  • Aristolochia pierrei กระเช้าผีมด หนอนตาย
  • Aristolochia poomae กระเช้านกกระสา
  • Aristolochia pothieri กระเช้าถุงทอง
  • Aristolochia versicolor กระทุงขน
  • Aristolochia yalaensis กระเช้ายะลา 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง