The EXIT : สอบงบฯ ฉุกเฉิน อบต.ป้องกันโควิด

การเมือง
17 พ.ย. 64
18:10
156
Logo Thai PBS
The EXIT : สอบงบฯ ฉุกเฉิน อบต.ป้องกันโควิด
ข้อยกเว้นให้ อปท. จัดซื้อ-จัดจ้างพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงกำหนดวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นช่องว่างให้เกิดข้อร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการใช้งบประมาณในลักษณะนี้กว่า 200 เรื่อง โดยเฉพาะช่วงที่โควิด-19 ระบาด

จากการตรวจสอบการจัดซื้อ-จัดจ้าง พัสดุอุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ ในช่วงปี 2563 ตามที่มีผู้ร้องเรียน โดยเฉพาะอุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นการจัดซื้อด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท พบว่า หลายโครงการจัดซื้อสินค้าราคาสูงกว่าราคาตลาด เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรด รวมไปถึงเครื่องพ่นละอองฝอย ULV

 

ประกาศข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดวงเงินจัดซื้อ-จัดจ้างพัสดุด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อได้เร็วขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันกลับเกิดช่องว่างให้เรียกผู้เสนอราคามาได้โดยไม่ต้องประกวดราคา

 

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช  บอกว่า พบรูปแบบการกระทำผิดหลายลักษณะทั้งเอื้อประโยชน์เครือญาติหรือบางครั้งไม่ใช่เครือญาติกัน เช่น กลุ่มผู้รับเหมารวมตัวกันมายื่นข้อเสนอราคาต่อท้องถิ่น เรียกว่า เป็นการฮั้ว หรือ อาจเป็นการล็อกสเปคเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นที่ไม่รู้หรือไม่ได้เป็นพวกกันไม่ให้เข้ามายื่นเสนอราคาก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่พบมาก

ปัญหาเกิดจากส่วนใหญ่มักเอื้อประโยชน์เครือญาติ หรือ การเข้าไปมีส่วนได้เสีย เช่นการเป็นผู้บริหารท้องถิ่นไปทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างโดยมีครอบครัวตนเอง บริษัทครอบครัวตนเอง คู่สมรสตน หรือญาติพี่น้องตนเข้ามาในการแข่งขัน หรืออาจไม่ใช่เครือญาติกัน  วันๆ หนึ่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางด้านท้องถิ่น 10 - 20 สำนวน

ปัจจุบัน ป.ป.ช. รับเรื่องตรวจสอบทั้งหมด 174 เรื่อง อยู่ระหว่างไต่สวน 3 เรื่อง ชี้มูลความผิดไปแล้ว 2 เรื่อง 

จากการค้นหาข้อมูลผ่านเว็บไซด์ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทยเพื่อตรวจสอบการจัดซื้อ-จัดจ้าง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ย้อนไปในปี 2563 พบว่า หลายพื้นที่จัดซื้อพัสดุโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 งบประมาณ ไม่ถึง 5 แสนบาท และ พบว่า บางพื้นที่มีปัญหา

ผู้เสียหายคนหนึ่งลงบันทึกประจำวันอ้างถูกแอบอ้างลายเซ็นเพื่อนำรายชื่อบริษัทไปเสนอราคาต่อ อบต. แห่งหนึ่งเพื่อได้สัญญา  เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 เป็นช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดมีผู้ติดเชื้อสูง การจัดหาอุปกรณ์เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ยากลำบาก ผู้แสวงหาผลประโยชน์ใช้กลอุบายหลากหลายวิธีเพื่อหาผลกำไรจากหน่วยงานรัฐ  บางแห่งพบเสนอราคาสูงเกินจริง แต่กรณีนี้พบการปลอมแปลงลายเซ็น

 

อบต.บางแห่ง พบข้อมูลการจัดซื้อเครื่องวัดอุณหภูมิอินฟาเรดในราคาสูงกว่าพื้นที่ใกล้เคียงทั้งที่สเปคไม่แตกต่างกัน

แม้ว่าจังหวัดสมุทรสาคร มีคดีที่ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำหน้าที่ของอดีตนายก อบต. ในโครงการเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ-จัดจ้าง พัสดุอุปกรณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  แต่ปัจจุบันคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดสมุทรสาคร ไม่ได้ตัดสิทธิอดีตนายก อบต. ที่ลงสมัคร ชิงตำแหน่งนายก อบต. ในพื้นที่เดิม

 

นายณัฐวรรธน์ วงศ์อิสรภาพ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง จ.สมุทรสาคร บอกว่า ตัดสิทธิเฉพาะกรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยประกาศไม่รับสมัครไปจำนวน 6 คน ส่วนกรณีนี้ คดียังไม่ถึงที่สุด

กรณีที่ ป.ป.ช.สอบอยู่เข้าใจว่าน่าจะอยู่ในกระบวนการของ ป.ป.ช. ในเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดเราก็ไม่อาจตัดสิทธิเขาได้

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา บอกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เก้าอี้ นายก อบต. มีความสำคัญ เพราะหลายคนต้องการเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากงบสนับสนุนต่างๆ เนื่องจากปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทย ที่ไม่มีความแน่นอนทำให้ ยอมลงทุนหาเสียง หวังเข้ามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อถอนทุนคืน

ตัวเลขในการเลือกตั้ง อบต. ตอนนี้ หลายคนบอกเตรียมเงินไว้หลักสิบล้านกับค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 มันไม่บาลานซ์กันต่อการลงทุนและผลตอบแทน คิดอย่างอื่นไม่ได้เลยมันต้องไปหากำไร  

สถิติโครงการจัดซื้อ-จัดจ้างที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับโรคติดต่อขององค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระบุ การใช้งบฯ ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 รวมแล้วกว่า 18,978 โครงการ งบประมาณรวมแล้วกว่า 800 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง