ธีสิสแอปฯ rerivery โมเดลต่อยอดธุรกิจ ส่งรถซาเล้งถึงหน้าบ้าน

สิ่งแวดล้อม
18 พ.ย. 64
15:50
328
Logo Thai PBS
ธีสิสแอปฯ rerivery โมเดลต่อยอดธุรกิจ ส่งรถซาเล้งถึงหน้าบ้าน
"นภาพร พิมพ์ประโพธ" นิสิต มศว.สาขาคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร ผุดไอเดียธีสิสแอปฯ rerivery โมเดลต่อยอดธุรกิจ ส่งรถซาเล้งถึงหน้าบ้าน ใช้ DNA คนรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีช่วยขยายฐานลูกค้าให้กิจการที่บ้าน และอำนวยความสะดวกคนรักสิ่งแวดล้อมกับการแยกขยะจากต้นทาง
พ่อเปิดร้านรับซื้อของเก่า ถ้าขยายฐานลูกค้าได้ด้วยแอปฯ ที่ลูกค้าเรียกเราไปรับขยะได้ทุกที่ ทุกเวลาตามที่จอง กิจการที่บ้านก็จะดีขึ้น ขยะก็จะถูกแยกตั้งแต่ต้นทาง คนขายก็ได้เงินกินขนมด้วย

"นภาพร พิมพ์ประโพธ" นิสิตสาขาคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เดินหน้าธีสิสโปรเจ็ก Relivery เกี่ยวกับการพัฒนาแอปพลิเคชันค้นหาร้านรับซื้อของเก่าในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงในเขตกรุงเทพมหานครบนระบบปฏิบัติการ IOS กรณีศึกษาเขตยานนาวา ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับให้บริการจอง/นัดหมายรับซื้อขยะรีไซเคิล แสดงร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียง ราคาสินค้าของขยะแต่ละประเภท โดยมีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการและเจ้าของร้าน


เพราะเติบโตมากับกิจการรับซื้อของเก่าของที่บ้าน เมื่อต้องริเริ่มโปรเจ็กธีสิสก็ทำให้ "นภาพร" เลือกหยิบ "Relivery" มาเป็น 1 ใน 15 โปรเจ็ก Future X ของนิสิตสาขาคอมพิวเตอร์เพื่อการสื่อสาร ขณะเดียวกัน DNA ของคนรุ่นใหม่ ก็ทำให้เด็กสาวคนนี้เล็งเห็นโอกาสยุคดิจิทัลที่จะต่อยอดฐานลูกค้าและสานต่อธุรกิจครอบครัวให้เดินหน้าไปได้


แอปฯ "Relivery" มีจุดเด่นคือ การปักหมุดร้านรับซื้อของเก่าบนแผนที่คล้ายกับ Google Map ให้ได้เช็กร้านรับซื้อของเก่าใกล้คุณในรัศมี 5 กิโลเมตร นอกจากจะเช็กสถานที่ได้แล้ว ในแอปฯ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับวัน-เวลาเปิดปิดร้าน รวมถึงประเภทและราคาของขยะที่รับซื้อ ทั้งยังมีบริการจองล่วงหน้าสำหรับบริการรับซื้อของเก่าเพื่อให้คุณรอขายขยะได้ในเวลาที่ว่างอีกด้วย


"นภาพร" สะท้อนมุมมองคนรุ่นใหม่ว่า กิจวัตรประจำวันของลูกสาวเจ้าของกิจการรับซื้อของเก่าคนนี้ คือการแยกขยะจนเป็นนิสัย พร้อมชักชวนเพื่อน ๆ ให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ลดภาระการจัดการและรีไซเคิลที่ปลายทาง ซึ่งเทรนด์รักสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่น่าสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทำให้การพูดคุยกับคนใกล้ตัวง่ายมากขึ้น

บางคนอาจไม่ได้คิดว่าขยะมีค่าหรือสร้างรายได้ให้เราได้ แค่ดื่มน้ำหมด 1 ขวด ใน 1 วัน แล้วเก็บไว้เรื่อย ๆ เมื่อนำไปขายก็ได้เงินมาซื้อขนมกินแล้ว แทนที่จะโยนทิ้งไปให้เสียเปล่า


"นภาพร" ทิ้งท้ายกับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก แม้วันนี้แอปฯ Relivery จะยังเป็นเพียงโมเดลในการนำเสนอธีสิส แต่ในอนาคตลูกสาวร้านขายของเก่าคนนี้วางแผนว่าอาจจะทำออกมาให้ได้ใช้กันจริง ๆ เพราะคิดว่าจากปกติที่มีแต่ลูกค้าในพื้นที่และลูกค้าคนเดิม ๆ แอปฯ นี้อาจจะช่วยขยายฐานลูกค้าให้ร้านของพ่อได้

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง