ชาวแม่ทาตื่นตัวเลือกตั้ง อบต. หวังได้ผู้นำแก้ปัญหาโฉนดชุมชน

ภูมิภาค
18 พ.ย. 64
14:58
275
Logo Thai PBS
ชาวแม่ทาตื่นตัวเลือกตั้ง อบต. หวังได้ผู้นำแก้ปัญหาโฉนดชุมชน
ชาวบ้านใน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ตื่นตัวเลือกตั้ง อบต. เพื่อหาผู้นำมาพัฒนาชุมชน จากฐานต้นทุน ดิน น้ำ ป่า

วันนี้ (18 พ.ย.2564) บทบาทของ อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาทรัพยากรและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชาวบ้าน ต.แม่ทา ตื่นตัวกับการเลือกตั้ง อบต.ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

 

ทั้งนี้ ในอดีต ชาวบ้านแม่ทาประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา

 

 

จนในปี 2547 อบต.แม่ทา ได้ริเริ่มทำโครงการโฉนดชุมชน ตรวจสอบพิกัดรายแปลง และทำโครงการกองทุนที่ดินสนับสนุน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้านและป้องกันการขยายพื้นที่เพิ่ม

 

 

อบต.แม่ทา ยังออกข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดการป่า ต.แม่ทา ปี 2550 แก้ปัญหาที่ทำกินทับเขตป่าตามหลักวิชาการ จัดทำผังชีวิตผังตำบล และพัฒนาอาชีพชาวบ้าน

 

 

ก่อนจะกลายเป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน เนื้อที่ 7,000 ไร่ ที่รัฐบาลมอบให้แก่ชาวบ้าน 1,235 ครอบครัว ใน ต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2558

 

 

นายพนมกร นามจันทร์ ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาทรัพยากรและเกษตรกรรมยั่งยืนแม่ทา เปิดเผยว่า ต.แม่ทา เป็นชุมชนในหุบเขา ต้นทุน คือการจัดการดิน น้ำ ป่า

คำถามคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนพออยู่พอกิน ภายใต้ปัจจัยที่ดินอันน้อยนิด ทำอย่างไรจะเลี้ยงดูคนทั้งตำบลได้ อบต.ต้องเข้ามามีบทบาทมากในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

 

ที่ผ่านมา สถาบันฯ มีการทำงานร่วมกัน อบต. เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวม ทำอย่างไรให้ที่ดินตกทอดถึงลูกหลาน เน้นเรื่องเกษตรยั่งยืน การลดการใช้สารเคมี เป็นนโยบายที่ร่วมกับ อบต.โดยมีการส่งต่อข้อมูลเพื่อหนุนเสริมกันตลอด

 

 

ทั้งนี้ ไม่อยากเห็น อบต.ที่เน้นโครงสร้างพื้นฐานอย่างเดียว แต่ต้องดูทั้งภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นฐานทรัพยากรหลัก คือดิน น้ำ ป่า รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ซึ่งเชื่อมโยงกันหมด

 

 

อบต.ต้องมีบทบาทเข้าถึงตั้งแต่เด็ก โรงเรียน ชุมชน ต้องเป็นแกนหลักประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน และเข้าใจบริบทของชุมชน อะไรคือทุนเดิม อะไรที่ต้องพัฒนาต่อยอด มีองค์ความรู้ถึงจะเป็นผู้นำชุมชนได้

 

นายสราวุธ วงศ์กาวิน เกษตรกรรุ่นใหม่ ต.แม่ทา กล่าวว่า เติบโตมากับชุมชน เห็นวิถีในตำบลที่มีหลากหลายอาชีพ การเลี้ยงวัวนม ปลูกข้าวโพดฟักอ่อน รับจ้างทั่วไป และการทำเกษตรอินทรีย์ จึงคาดหวังให้ภาคส่วนต่างๆ มีการบูรณาการให้เกิดความสมดุล

 

 

อบต.ต้องมีผู้บริหารที่เข้าใจเอื้อให้กับทุกหน่วยงาน ไม่เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ให้ความสำคัญกับทุกกลุ่ม เพราะทุกๆ อาชีพเกื้อหนุนกัน เช่น เกษตรอินทรีย์ต้องใช้ปุ๋ยขี้วัว คนเลี้ยงวัว ก็ต้องการต้นข้าวโพดมาเป็นอาหารให้สัตว์เลี้ยง ส่วนคนทำงานรับจ้างก็ต้องซื้ออาหาร ซื้อผัก ผลไม้จากคนปลูก

 

ต.แม่ทา ต้องการความเข้าใจของคนในชุมชน เชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ให้เกิดความเข้าใจในการขับเคลื่อนชุมชน ที่เหลือคือผู้นำ ก็จะทำงานไปในทิศทางตามความต้องการของคนทั้งชุมชน

 

ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่ นายก อบต.พึ่งมี คือการเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้นั่งบริหารอยู่ในห้องแอร์ โดยไม่ลงมาสัมผัสกับความเป็นจริงในชุมชน

 

แม้ ต.แม่ทา จะเป็นพื้นที่นำร่องตามแผนงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. แต่ชาวบ้านก็ยังรอคอยการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการตั้งวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไม้สักกว่า 160,000 ต้น ที่ อบต.แม่ทา ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในที่ดินโฉนดชุมชน เพื่อเป็นเงินทุนยามเกษียณ แต่ข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้ยังไม่สามารถตัดขายได้

 

อบต.แม่ทา มีพื้นที่ 116 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 7 หมู่บ้าน รวมประชากร 4,500 คน แต่ละปีมีงบประมาณงานท้องถิ่น 32 ล้านบาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านหวัง อบต.หนองไฮ ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลตื่นตัวเลือกตั้ง อบต. 

ครั้งแรก! จัดหน่วยเลือกตั้งหมู่บ้านมอแกน บนเกาะสุรินทร์

"ศึกล้างตา" 2 อดีตนายก อบต.คลองศก ช่วงชิงเก้าอี้ 

ชาวบ้านรอดูนโยบายฟื้นท่องเที่ยวจาก อบต.แม่วิน ชุดใหม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง