สถิติลอยกระทง 5 ปี จมน้ำดับ 55 คน พลุดอกไม้ไฟเจ็บ112 คน

สังคม
19 พ.ย. 64
11:58
1,085
Logo Thai PBS
สถิติลอยกระทง 5 ปี จมน้ำดับ 55 คน พลุดอกไม้ไฟเจ็บ112 คน
กรมควบคุมโรค เตือนเทศกาลลอยกระทงเสี่ยงหลังสถิติ 5 ปีช่วง 2559-63 พบมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 55 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 45-59 ปี เด็กต่ำกว่า 15 ปี เตือนเล่นพลุ-ดอกไม้ไฟ เสี่ยงบาดเจ็บสูญเสียอวัยวะพบบาดเจ็บรุนแรง 112 คน

วันนี้ (19 พ.ย.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทงในปีนี้ รัฐบาลอนุญาตให้จังหวัดต่างๆ สามารถจัดงานเทศกาลลอยกระทงได้ เพื่อสืบสานประเพณี แต่ให้จัดงานภายใต้มาตรการป้องกันควบคุม COVID-19 ที่เข้มงวด และให้พิจารณารูปแบบงานตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากนี้พบว่า ในเทศกาลวันลอยกระทง มีประชาชนได้รับอุบัติเหตุจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ทำให้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะสำคัญหรือเสียชีวิต และจมน้ำเสียชีวิตจากข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บของกรมควบคุมโรค ช่วงวันลอยกระทง 3 วัน (ก่อน ระหว่าง และหลังวันลอยกระทง) ปี 2561-2563 มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ จำนวน 112 คนกลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15-29 ปี ร้อยละ 32.1 รองลงมาเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-14 ปี ร้อยละ 25.9

อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากที่สุด คือข้อมือและมือ ร้อยละ 36.6 รองลงมา คือ ศีรษะ ร้อยละ 17 ส่วนใหญ่มีแผลเปิดที่ศีรษะ ร้อยละ 42.1 และได้รับบาดเจ็บที่ตา ร้อยละ 26.3

สถานการณ์การจมน้ำในช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงปี 2559-2563 จากข้อมูลมรณบัตร กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าวันลอยกระทงวันเดียว มีคนจมน้ำเสียชีวิต 55 คน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-59 ปี ร้อยละ 34.5 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 1 ใน 5 

แนะนำลดอันตรายจากพลุ-ดอกไม้ไฟ 

นพ.โอภาส กล่าวว่า คำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ มีดังนี้ ไม่ควรให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง ไม่ควรอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว สอนให้เด็กรู้ว่าพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ใช่ของเล่น แต่เป็นสิ่งที่อันตราย  รวมทั้งไม่ควรเก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่จุดแล้วไม่ติดมาเล่น หรือจุดซ้ำเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดได้หากจำเป็นต้องจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ในงานพิธีต่างๆ ควรอ่านคำแนะนำอย่างละเอียด และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 ช่วงแขน

การเล่นดอกไม้ไฟจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย หรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ส่วนคำแนะนำป้องกันการจมน้ำช่วงลอยกระทง มีดังนี้ กำหนดพื้นที่สำหรับจัดงานลอยกระทงอย่างชัดเจน มีแสงสว่างเพียงพอ มีรั้วหรือสิ่งกั้นขวาง ป้องกันการพลัดตกน้ำ จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ จมน้ำ ไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้

สำหรับการเดินทางทางน้ำ ต้องจัดเตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอต่อผู้โดยสาร และให้มีการสวมใส่ทุกครั้งก่อนออกเดินทาง และจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่อง และช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินตลอดระยะเวลาการจัดงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พล.อ.ประวิตร ยันร่วมลอยกระทงกับนายกฯ "ลอยความขัดแย้ง"

เช็กก่อนใช้! เว็บไซต์ "ลอยกระทงออนไลน์" ระวังถูกหลอกเอาข้อมูล

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง