เปิดอาณาจักร "ซีพี" กับวิถีชีวิตคนไทย

เศรษฐกิจ
23 พ.ย. 64
19:37
1,783
Logo Thai PBS
เปิดอาณาจักร "ซีพี" กับวิถีชีวิตคนไทย
หากดีลระหว่างทรูกับดีแทคสำเร็จ ก็จะเป็นอีกหนึ่งกิจการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ขยายธุรกิจจนมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้น จากจุดเริ่มต้นธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์พืช ขยายจนเป็นเครือข่ายที่แทบจะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยในทุกมิติ

คงไม่มีใครจินตนาการได้ว่า การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลของบุรุษชาวจีนนาม "เจี่ย เอ็กชอ" จากมณฑลกวางตุ้ง สู่ประเทศไทยเมื่อ 100 ปีที่แล้ว จะเป็นปฐมบทที่นำไปสู่ความรุ่งโรจน์ของครอบครัวในปัจจุบัน

และคงไม่มีใครคาดคิดว่า ธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์ผักของร้านเจียไต้จึง หรือ เจียไต๋ จะเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งต่อการบริหารจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อทายาทคนสุดท้องกลายมาเป็นผู้นำอาณาจักรธุรกิจ ที่สามารถเกาะเกี่ยวชีวิตคนไทยแทบทุกมิติ ทายาทคนนั้นชื่อ "กั๋วหมิน" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ธนินท์ เจียรวนนท์"

ท่ามกลางสปอตไลท์ที่สาดแสงสู่ดีลควบรวมกิจการโทรคมนาคม ด้านล่างเวทีปรากฎกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เครือเจิรญโภคภัณฑ์ ขยายขอบเขตทางธุรกิจเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากน้อยขนาดไหน

เว็บไซต์เครือเจิรญโภคภัณฑ์ เผยแพร่เครือข่ายธุรกิจ จัดประเภทหมวดหมู่ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก การสื่อสารและโทรคมนาคม อีคอมเมิร์ซและดิจิทัล อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์และอุตสาหกรรม ยาและเวชภัณฑ์ รวมถึงการเงินและการธนาคาร

หลายครั้งที่ปรากฎกระแสวิจารณ์เครือข่ายธุรกิจเหล่านี้ เมื่อมีการบริหารจัดการทรัพยากรและการค้าที่เข้าไปมีส่วนในชีวิตประจำวัน อย่างกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่รู้จักกันแพร่หลายคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ที่มีทั้งอาหารแปรรูป อาหารแช่เย็น ร้านขายอาหารจานด่วน เช่น ไก่ย่างห้าดาว เชสเตอร์กริลล์ เป็ดย่างเจ้าสัว เช่นเดียวกับช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค ที่แบ่งเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 ร้านค้าส่ง หรือห้างสรรพสินค้าอย่างแมคโคร และโลตัส

เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยังลงนามในสัญญาและบันทึกความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เงินลงทุนกว่า 224,000 ล้านบาท

 

ล่าสุดยังมีความพยายามในธุรกิจด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่อยู่ระหว่างควบรวมกิจการในปัจจุบัน จนนำไปสู่คำถามว่า แนวทางธุรกิจลักษณะนี้ อาจกระทบต่อทางเลือกของผู้บริโภคหรือไม่

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า โจทย์ทั่วโลกคือโจทย์ของทุนใหญ่ที่มากลืนกินช่องว่างที่ผู้บริโภคยังมี เพราะฉะนั้นหน่วยงานในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันในตลาดต่างๆ ซึ่งกรณีนี้คิดว่าจะไปไกลกว่ากรณีการควบรวมธุรกิจค้าปลีกที่เคยเกิดขึ้นในไทย 

กรณีค้าปลีก อย่างน้อยถ้าไม่ใช่ค้าปลีกสมัยใหม่ ยังมีโชว์ห่วยที่เป็นตัวเลือก แต่กรณีของโทรศัพท์มือถือ ถ้าเราไม่ใช้ของ 2 ราย ในอนาคตหากการควบรวมสำเร็จ เราจะไปใช้บริการที่ไหน ไม่มีตัวเลือกเหลือเลย

นี่คือคำถามที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ต้องเผชิญต่อเนื่อง เมื่อปรากฎอีกหลายกิจการที่ถูกตั้งคำถามว่า มีลักษณะควบรวมคู่แข่งขันในตลาดเดียวกันหรือไม่ ส่งผลให้เครือข่ายธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีขนาดใหญ่จนส่งผลต่อการแข่งขันในตลาด

 

อ่านข่าวอื่นๆ

ดีลใหญ่! TRUE-DTAC พร้อมควบรวมกิจการตั้งบริษัท Tech Company

ปิดดีลทรู-ดีแทคสู่ยุค 4.0 คาดแชร์ส่วนแบ่งตลาด 2.17 แสนล้าน

กสทช.ห่วงควบรวม "ทรู-ดีแทค" สุ่มเสี่ยงฮั้วค่าบริการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง