นักวิจัยฟินแลนด์ เพาะเซลล์ "กาแฟห้องแล็บ" เครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Logo Thai PBS
นักวิจัยฟินแลนด์ เพาะเซลล์ "กาแฟห้องแล็บ" เครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นักวิจัยฟินแลนด์จากสถาบัน VTT ได้ทดลองผลิตกาแฟจากห้องแล็บ ด้วยการเพาะเซลล์จากใบของต้นกาแฟ ช่วยลดปัญหาขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูก

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ได้สร้างผลกระทบให้กับการทำเกษตรกรรม ทำให้ต้องหาแนวทางในการเพาะปลูกใหม่ ๆ ที่ยังคงสร้างผลผลิตได้อย่างเดิม ปัญหานี้ได้ส่งผลกระทบกับการเพาะปลูกกาแฟด้วยเช่นกัน ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยในประเทศฟินแลนด์ จึงได้ทดลองปลูกกาแฟจากการเพาะเซลล์ และคาดว่าจะให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า

รสชาติที่ยังบอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่าควรจะเป็นชาดำหรือกาแฟกันแน่ เป็นคำอธิบายรสชาติเบื้องต้นของสิ่งที่เรียกว่า "กาแฟห้องแล็บ" ซึ่งพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย VTT Technical Research Centre of Finland ของประเทศฟินแลนด์ โดยรูปแบบการผลิตนี้ไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาพื้นที่การเพาะปลูกที่มีน้อยลง แต่อาจพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าในอนาคตได้

การผลิตกาแฟจากห้องทดลองเกิดจากการเพาะเซลล์จากใบของต้นกาแฟ ด้วยการเพาะเลี้ยงในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพที่มีอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของพืชหรือเนื้อสัตว์ที่ผลิตกันในห้องทดลอง หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตกาแฟสำหรับดื่มด้วยการคั่วและทดสอบรสชาติ

กลิ่นและรสชาติของกาแฟห้องแล็บมีความคล้ายคลึงกับกาแฟแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังคงไม่เหมือนรสชาติที่คุ้นเคยมากนัก ทีมนักวิจัยทดสอบรสชาติด้วยการชิมแล้วบ้วนทิ้ง เพราะผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้รับการรับรองให้บริโภคได้ แต่ก็คาดว่าจะได้รับการรับรองและสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในเวลาไม่เกิน 4 ปี เพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่บริโภคได้ และมีรสชาติที่ถูกใจคอกาแฟ

การดื่มกาแฟได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น โดยพื้นที่บางส่วนมาจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพาะปลูกกาแฟ ดังนั้น การทำเกษตรกรรมด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเนื้อสัตว์ หรือพืชซึ่งออกมาจากห้องทดลองแทนที่จะมาจากพื้นที่เพาะปลูก อาจจะเป็นคำตอบของการจัดการอาหารเพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้ในอนาคต

--------------------------

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ @ThaiPBSSciAndTech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง