พิษโควิดบีบคนไทยเครียด ยอดฆ่าตัวตายพุ่ง ปี 63

สังคม
25 พ.ย. 64
10:43
2,418
Logo Thai PBS
พิษโควิดบีบคนไทยเครียด ยอดฆ่าตัวตายพุ่ง ปี 63
โฆษกกรมสุขภาพจิต เผยอัตราฆ่าตัวตายยุคโควิดยังน่าห่วง พบเหตุฆ่าตัวตายสูง 8 คนต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้น 10 เท่าเทียบวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังต้องเฝ้าระวัง 1-2 ปี จับตาเด็กจบใหม่ ภาวะเครียดสูงหวั่นตกงานยาว

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 กระทบทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ในขณะที่กลุ่มเปราะบางก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่งผลให้เกิดความเครียดและนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ดังที่พบเห็นปรากฏบนสื่อบ่อยครั้งมากขึ้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความเครียดที่เพิ่มขึ้น

ยอดติดโควิดสูง-ยอดเสี่ยงฆ่าตัวตายพุ่ง 10 เท่า 

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลในงาน “ถอดรหัสนวัตกรรมวัคซีนใจในชุมชน 2564” ว่า แรกเริ่มของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

จากการสำรวจความคิดเห็นพบว่า คนมีความคิดฆ่าตัวตายยังต่ำ อยู่ที่ 0.7-0.8% แต่ในช่วงเดือน ส.ค.ปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดมีจำนวนผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนต่อวัน อัตราการเสียชีวิตหลายร้อยคนต่อวัน พบว่า ผู้ตอบคำถามเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ประมาณ 7-8 % หรือเป็น 10 เท่า และมีแนวโน้มสูงขึ้น

สอดคล้องกับที่มีรายงานข่าวการฆ่าตัวตายผ่านสื่อ สัปดาห์ละ 3-4 เหตุการณ์ พบลักษณะการทำร้ายคนอื่นก่อนทำร้ายตัวเองตาม ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในประเทศไทยเดิมอยู่ที่ 6-7 คนต่อประชากรแสนคน ขณะนี้กลับพบว่า เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8 คนต่อประชากรแสนคน

เฝ้าระวังฆ่าตัวตายพุ่งหลังวิกฤต 1 ปี 

อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของทั่วโลกสูงขึ้น หลังวิกฤตโควิด-19 ประมาณ  1 ปี เป็นจุดสูงสุดของปัญหา ดังนั้นตั้งแต่เดือน ส.ค.2564 - ส.ค.2565 เป็นช่วงเวลาที่ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้ตัวเลขการฆ่าตัวตายสูงมากไปกว่านี้

กรมสุขภาพจิตจึงได้เพิ่มคู่สาย สายด่วนสุขภาพจิต 1323 และให้หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่มีสมาชิกที่มีความเครียด เช่น มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ที่พบว่า นิสิตนักศึกษามีความเครียดมากขึ้น เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสได้พูดคุย ปรึกษาหารือ เพราะจากการตอบแบบสอบถาม พบความเสี่ยงฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 10 เท่า

ดังนั้นจึงพยายามให้มีระบบให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตในองค์กรต่างๆ มีสายด่วน มีผู้ให้คำปรึกษา มีนักจิตวิทยา แม้แต่ในกระทรวงต่างๆ โดยการให้คำปรึกษามีทั้งระบบการปกปิดตัวตนและการเปิดเผยตัวตน และการส่งต่อการรักษาด้วย

โควิด-19 กระทบจ้างงาน เด็กจบใหม่เครียด 

ด้าน นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบว่า แนวโน้มวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้น เนื่องจากวัยมหาวิทยาลัย เป็นวัยที่กำลังจะเรียนจบและเริ่มต้นการทำงาน

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ก็กระทบต่อการจ้างงาน ทำให้หลายคนกังวลว่าเมื่อเรียนจบไปจะไม่มีทำงาน และแข่งขันกับคนที่มีประสบการณ์ไม่ได้ 

ตลาดแรงงานที่ดีมานด์กับซัพพลายเริ่มไม่สมดุลกัน และคนจบใหม่มาเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดความเครียดอย่างมากในเด็กรุ่นใหม่

เด็กรุ่นใหม่จึงมีความเครียดมากกว่าคนรุ่นก่อน ใช้ชีวิตยากกว่ารุ่นพ่อแม่ ยิ่งเป็นสังคมเมือง การแข่งขันสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ยิ่งปัจจุบันคนใช้สื่อสังคมออนไลน์กันมากขึ้น

ทุกวันนี้ ชีวิตหลายคนผูกติดอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้การรับข่าวสารมีมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งในเชิงลบ เชิงบวก แต่หากได้รับข่าวสารเชิงลบมากขึ้น เช่น เศรษฐกิจมีปัญหา ข่าวการตาย การฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจทำให้ไม่มีความสุขไปเลย ซึ่งการรับข้อมูลที่เป็นเชิงลบมากเกินไป ทำให้เราไม่มีความสุข

ความสัมพันธ์เปราะบาง สาเหตุปัญหาสุขภาพจิต

วิถีชีวิตของคนถูกดีดออกไปจากจุดที่เคยสมดุล จากเดิมที่เคยมีความสุข สร้างความสุขให้ตัวเองได้ กลายเป็นจุดสมดุลในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป กิจกรรมที่ทำแล้วความสุขเริ่มหายไป

นพ.วรตม์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนเกือบทุกด้าน บางอาชีพถึงกับตกงานไม่มีงานทำ เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน จะออกไปดูหนัง เดินตลาด ไม่สามารถทำได้ในช่วงปีที่ผ่านมา ความทุกข์ที่มากขึ้น ความสุขที่น้อยลง จึงเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนไทย ขณะที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นปัจจัยหนึ่ง ของปัญหาด้านสุขภาพจิตทั้งหมด รวมถึงปัญหาการฆ่าตัวตาย

ขณะที่กรณีการฆ่าตัวตาย จากการชันสูตรด้านสุขภาพจิตของบุคคลที่เกี่ยวข้อง พบว่า กว่า 50-60 % มีสาเหตุมาจากปัญหาในครอบครัว เช่น การทะเลาะเบาะแว้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรัก หรือ เพื่อนสนิท

ขณะที่ในช่วง 3 ปี นับแต่การระบาดโควิด-19 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น 10-15 % ในปี 2563 ตัวเลขอยู่ที่ 7.37 คนต่อประชากรแสนคน 

เร่งปรับปรุงฐานข้อมูล "ฆ่าตัวตาย"

นพ.วรตม์ กล่าวว่า ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ได้ติดตามอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายให้มีความใกล้เคียงอัตราที่แท้จริงมากที่สุด เนื่องจากฐานข้อมูลเดิมที่จะอิงฐานข้อมูล "มรณบัตร" เป็นข้อมูลทางการ แต่อาจจะไม่สะท้อนภาพ การเสียชีวิตที่แท้จริงจากการฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิต จึงได้ปรับการใช้ฐานข้อมูลใหม่เป็นระบบ 3 ฐาน ซึ่งเป็นการใช้ฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย ประสานร่วมกับฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข และฐานข้อมูลศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบฐานข้อมูลทั้ง 2 ระบบในปี 2561 2562 และ 2563

พบว่าในระบบฐานเดี่ยว (เดิม) มีอัตราเท่ากับ 6.32, 6.73 และ 7.37 ต่อแสนประชากรต่อปีตามลำดับ และในระบบ 3 ฐาน (ใหม่) มีอัตราเท่ากับ 8.81, 8.95 และ 10.08 ต่อแสนประชากรต่อปี

จับตาตัวเลขแฝง "คนพยายามฆ่าตัวตาย" สูง 10 เท่า 

นพ.วรตม์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังมีกรณีของการพยายามฆ่าตัวตายซึ่งมีการศึกษามาอย่างยาวนาน และยังไม่ได้มีประเทศใดหรือกลุ่มใดที่สามารถเก็บข้อมูลดังกล่าวได้ เนื่องจากการฆ่าตัวตายไม่สำเร็จ บางครั้งผู้ก่อเหตุไม่ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ก่อเหตุที่บ้านเมื่อถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลก็จะแจ้งสาเหตุในการเข้ารับการรักษาด้วยสาเหตุอื่น 

แต่ประเมินว่า ตัวเลขของการพยายามฆ่าตัวตายนั้นหากคูณด้วย 10 หรือ 15 ต่อตัวเลขจากการฆ่าตัวตายและเสียชีวิต ก็จะพบว่า เป็นตัวเลขของผู้ที่พยายามหรือคิดฆ่าตัวตาย เช่น กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 5,000 คน เชื่อว่ามีผู้ที่พยายามจะฆ่าตัวตายในแต่ละปีคูณ 10 เข้าไปคือ ประมาณ 50,000-75,000 คน ซึ่งมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายแต่ไม่ได้ทำหรือทำไม่สำเร็จ

ความเครียดสูง ยุคโควิดใกล้เคียงต้มยำกุ้ง

นพ.วรตม์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีประสบการณ์จากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงในปี 2541 ต่อมาปี 2542 จึงค่อยๆ ลดลง แสดงว่า ผลกระทบทางจิตใจจากวิกฤตต่างๆ จะมีผลต่อเนื่อง

หากนำมาเทียบเคียงกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจจะต่อเนื่องไปได้อีก 2-3 ปี หลังจากนั้น ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตต่อเนื่อง

วิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดครั้งเดียวแล้วจบ ส่วนการระบาดโควิด-19 นั้นต่างกัน โควิดไม่ได้เกิดตูมเดียวแล้วจบ โควิดยาวนานต่อเนื่อง เปลี่ยนชีวิตคนจำนวนมาก ไม่เคยเกิดวิกฤตรูปแบบนี้มาก่อน

วิกฤตโรคระบาด อาจจะมีข้อดี คือ ผู้คนจะค่อย ๆ ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตหรืออาจไม่ดีก็ได้ เนื่องจากเกิดยาวนานเรื้อรัง ไม่หายสักที ซึ่งทำให้คนเกิดความท้อแท้ซึ่งต้องศึกษาและทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

Influencers ช่วยประสานงาน จับสัญญาณฆ่าตัวตาย

ไม่เพียงหน่วยงานของรัฐที่พยายามช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนจาก ยังมีความร่วมมือกับบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ที่ช่วยเชื่อมส่งข้อมูลด้วยการตั้ง “หน่วยจับสัญญาณฆ่าตัวตายโลกโซเชียลมีเดีย” ที่เกิดการรวมตัวของกรมสุขภาพจิต กองปราบปราม และ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง เช่น เพจดราม่าแอดดิก (Drama-addict) หมอแล็บแพนด้า และเพจแหม่มโพธิ์ดำ

ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ตรวจจับข้อความ ลักษณะส่งสัญญาณความเสี่ยงฆ่าตัวตาย เช่น ข้อความสั่งเสีย ข้อความบอกลา หรือการไลฟ์สดพยายามฆ่าตัวตาย เป็นต้น เนื่องจากประชาชนรู้จักบรรดาอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ ก็สามารถใช้ช่องทางในการสื่อสารและบอกต่อเพื่อขอความช่วยเหลือและเฝ้าระวังได้

จากนั้นเมื่อได้รับข้อมูลจะมีผู้เชี่ยวชาญประเมินข้อความนั้น หากพบว่า มีความเสี่ยงก็จะประสานกองปราบปรามเร่งดำเนินการตรวจสอบหาตัวผู้มีความเสี่ยง และประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ที่รับผิดชอบเข้าช่วยเหลือให้ได้ทันท่วงที นับแต่เปิดปฏิบัติการกู้ชีวิตคนคิดฆ่าตัวตายโลกโซเชียลฯ ได้กว่า 150 ชีวิต

แนะวิธีการรับมือกับความเครียด

นพ.วรตม์ ยังเสนอแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาความเครียดว่า เราทุกคนเหมือนถังน้ำ ถังน้ำที่จุความเครียดได้จำกัด ในแต่ละวันหากจุความเครียดมากเกินไปมันจะระเบิดออก สิ่งที่ทำได้คือ ไม่เอาน้ำหรือความเครียดเข้ามามากเกิน และให้ปล่อยน้ำที่อยู่ในถังออกไปบ้าง

การระบายน้ำออกไปคือการจัดการความเครียด ดูว่า วิธีการใดบ้างที่เราทำได้ เช่น ทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว ถ้าเกิดมีปัญหาก็พูดคุยเคลียร์กันหากลดสิ่งที่เข้ามาและเพิ่มกันปล่อยออกไป สุดท้ายความเครียดสะสมในตัวเราก็จะลดลง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง