โชว์ไอเดียแอปฯ เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน คว้าแชมป์อาเซียน

สังคม
25 พ.ย. 64
16:46
34,274
Logo Thai PBS
โชว์ไอเดียแอปฯ เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน คว้าแชมป์อาเซียน
ทีม "Youth Forward" ใช้ดาต้าวิเคราะห์ปัญหาภาคการเกษตรของอาเซียน พร้อมโชว์แผนยกระดับคุณภาพชีวิต-เพิ่มรายได้ ใช้แอปพลิเคชันเชื่อมเกษตรกร-ผู้บริโภคซื้อสินค้าโดยตรง ลดช่องว่างพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบ ชนะใจกรรมการคว้าแชมป์เวทีระดับอาเซียน

 

ชาวนาเป็นอาชีพหลักในภูมิภาคอาเซียน ค่าตอบแทนไม่เพียงพอ หลายคนมีหนี้สิน

โจทย์ใหญ่ปัญหาเกษตรกรยากจน รายได้ไม่คุ้มกับค่าแรง ถูกหยิบยก และนำเสนอทางออกบนเวทีอาเซียน ผ่าน 2 เด็กไทย "Youth Forward" ทีมมัธยมฯ หนึ่งเดียวของแข่งขัน ASEAN DSE ระดับภูมิภาค จนสามารถเอาชนะใจกรรมการและคว้าแชมป์มาครองสำเร็จ

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับ น.ส.รดา ประไพกรเกียรติ (ต้นหลิว) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ น.ส.กัญจรีย์ ศุภวิทยา (ปิ่นปิ๊น) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์

 

ในการพรีเซนต์หัวข้อโครงการมุ่งลดช่องว่างในกลุ่มคนทำงานภาคเกษตรกรรม ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มเกษตรกร วางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน การแข่งขันรอบภูมิภาคกับตัวแทนอีก 9 ทีม

พวกเธอเลือกใส่ชุดม่อฮ่อม สวมงอบ และผ้าขาวม้าพาดไหล่ สะท้อนความเป็นไทย และการแต่งกายของ "ชาวนา" กระดูกสันหลังชาติ ผู้ผลิตอาหารป้อนครัวโลก โดยเฉพาะ"ข้าว" เป็นสินค้าสำคัญในการส่งออก แต่รายได้ของพวกเขากลับสวนทางการทำงานหนัก

 

ต้นหลิว และปิ่นปิ๊น มองว่า ชาวนาเป็นอาชีพหลักในภูมิภาคอาเซียน แต่ได้รับค่าตอบแทนไม่เพียงพอ หลายคนมีหนี้สิน จึงต้องการยกระดับให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลช่วยพัฒนาแอปพลิเคชัน ให้เกษตรกรติดต่อกับผู้บริโภคโดยตรง

ไทยและอาเซียน มีชาวนา 43% เป็นพื้นที่ภาคเกษตรกรรม ทำให้เห็นถึงปัญหานี้ จึงเลือกนำเสนอหัวข้อนี้ในเวทีอาเซียน

10 นาทีของการพรีเซนต์ ใน 4 นาทีสุดท้าย เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมากที่สุด ทั้งสองคนต้องใช้ไหวพริบตอบคำถามจากคณะกรรมการ เช่น โปรเจกต์นี้ใช้เวลาเท่าใด? ขั้นแรกต้องทำอะไร? และใครจะเป็นผู้สนับสนุนด้านเงิน?

ซึ่งหนึ่งในคำถามจากคณะกรรมการ หากเกษตรกรไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณขัดข้องจะทำอย่างไร? พวกเธอตอบว่า แอปฯ จะมีข้อมูลอีเมล และเบอร์โทรศัพท์เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้าติดต่อ

 

แอปฯ เชื่อมชาวนา ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง

ทางออกที่ตกผลึกจากการวิเคราะห์ปัญหารายได้เกษตรกร ถูกถ่ายทอดเป็น 2 ข้อเสนอสำคัญ นั่นคือ การพัฒนาแอปพลิเคชัน ชื่อว่า "AGRI Connect" โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเทรนด์ชอบปิ้งออนไลน์ที่มาแรง นำมาปรับใช้ในภาคเกษตรกรรม เป็นสะพานเชื่อมชาวนากับผู้บริโภค ตัดพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ชาวนาได้ผลประโยชน์สูงสุด

โครงสร้างของแอปพลิเคชันมี 4 หน้าหลัก เน้นเข้าใจง่าย ใช้งานสะดวก แสดงชื่อเกษตรกรจากพื้นที่ใกล้ลูกค้าที่สุดก่อน, ปริมาณผลผลิตที่อยู่ระหว่างการปลูกของเกษตรกร ผลผลิตจะออกมาเมื่อใด และเตรียมปลูกอะไรเพิ่ม ให้ลูกค้าสั่งจองล่วงหน้าได้, ในโปรไฟล์เกษตรกรมีทั้งประวัติ ภาพฟาร์ม ใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ เมื่อลูกค้าสั่งสินค้าแล้วจะมีการสรุปรายการ และผู้บริโภคเลือกได้เองว่าต้องการมารับสินค้าที่ฟาร์ม หรือให้จัดส่งที่บ้าน

เกษตรกรได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มกับแรงงานที่เสียไป และรายได้ยังหายจากคนกลาง แต่หากมีแอปฯ เชื่อมเกษตรกร กับผู้บริโภคโดยตรง เชื่อว่าจะดีขึ้น
กัญจรีย์ ศุภวิทยา (ปิ่นปิ๊น)

กัญจรีย์ ศุภวิทยา (ปิ่นปิ๊น)

กัญจรีย์ ศุภวิทยา (ปิ่นปิ๊น)

"สมาร์ทฟาร์มมิ่ง"ตอบโจทย์คนเมือง

 ข้อเสนอแนะที่ 2 เป็นขั้นตอนการเก็บข้อมูลและพัฒนาแผน ระยะสั้น ระยะยาว 10 ปี แบ่งออกเป็น 3 เฟส คือ เฟสที่ 1 การศึกษาและให้ทุนวิจัยเกษตรกรแบบครบวงจร เช่น ทางเลือก "สมาร์ทฟาร์มมิ่ง" การปลูกพืชตามแนวตั้ง ตอบโจทย์พื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่มีอาคารจำนวนมาก

ส่วนเฟสที่ 2 หลังมีนักวิจัยแล้วจะทำให้พัฒนาภาคการเกษตรได้ง่ายขึ้น และเฟส 3 ร่วมกับเครือข่ายในประเทศอาเซียน แลกเปลี่ยนข้อมูลและสินค้า มีนักเรียนแลกเปลี่ยนด้านเกษตรกรรม รวมทั้งจัดเวทีประชุมอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อก้าวไปพร้อมกันทั้งภูมิภาค

กว่าจะเป็นผู้ชนะเลิศในเวที ASEAN DSE ระดับภูมิภาค พวกเธอต้องเตรียมข้อมูล นำไปมาวิเคราะห์และจัดทำพรีเซนเทชั่น ซึ่งในการแข่งขันระดับประเทศ มีข้อแนะนำว่า ข้อมูลมากเกินไป พูดเร็ว คนดูไม่สามารถเข้าใจทั้งหมดได้ จึงปรับไปเป็นรูปภาพและกราฟ สร้างสตอรี่เปรียบอาเซียนเป็น "ต้นไม้" ที่ต้องเติบโตไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ก่อนการแข่งขัน ASEAN DSE ระดับภูมิภาค เอสเอพีและมูลนิธิอาเซียนได้จัดเวิร์กช็อป ให้ 10 ทีมตัวแทนประเทศอาเซียน ได้ทำความรู้จัก เรียนรู้วัฒนธรรม และสถานที่ในประเทศต่าง ๆ

รดา ประไพกรเกียรติ (ต้นหลิว)

รดา ประไพกรเกียรติ (ต้นหลิว)

รดา ประไพกรเกียรติ (ต้นหลิว)

 

ต้นหลิว มองว่า Data Science เป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะมีส่วนช่วยในเรื่องของการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) รวมถึงทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) นำไปปรับใช้ได้กับทุกสายอาชีพ หากมีทักษะเชิง Data จัดการกับข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ จะทำให้เราวิเคราะห์แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

โดยเลือกหัวข้อเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม เพราะเป็นหัวข้อที่ยังไม่ถูกพูดถึงมากเท่าที่ควร ประกอบกับภาคเกษตรกรรมเป็นปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศในอาเซียน แต่กลับพบว่ายังมีอุปสรรคและช่องว่างในหลายด้าน เช่น การขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอ จึงต้องการยกระดับให้เกษตรกรที่จัดเป็นกลุ่ม Blue Collars มีรายได้เทียบเท่ากับกลุ่ม White Collars

ขณะที่ปิ่นปิ๊น ขอบคุณโอกาสที่ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะนอกห้องเรียน ทั้งทักษะด้านการสื่อสาร ต้องกระชับ ชัดเจน ตรงประเด็นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจ อีกทั้งยังได้เสริมทักษะด้านการทำงานเป็นทีม เคารพความคิดเห็นของเพื่อนร่วมทีม เพื่อร่วมกันทำงานให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ส่วนตัวเชื่อว่าทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่าง Soft Skill เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรเรียนรู้เพิ่มเติมเช่นกัน

เยาวชนเป็นแหล่งที่มาของไอเดียใหม่ ๆ ทำให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน จุดแข็งคือกล้านำไอเดียไปเผยแพร่และลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง