สธ.ซื้อไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ใช้เป็นเข็มกระตุ้น-ฉีดให้เด็ก 5-11 ปี

สังคม
26 พ.ย. 64
09:02
5,822
Logo Thai PBS
สธ.ซื้อไฟเซอร์ 30 ล้านโดส ใช้เป็นเข็มกระตุ้น-ฉีดให้เด็ก 5-11 ปี
กระทรวงสาธารณสุขลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์อีก 30 ล้านโดส สำหรับนำมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นในปีหน้า ทั้งนี้ หาก อย.ไทยอนุมัติให้ฉีดในเด็กอายุ 5 – 11 ปี สามารถเปลี่ยนเป็นวัคซีนสำหรับฉีดให้เด็กกลุ่มนี้ได้

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ลงนามสัญญาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 30 ล้านโดส สำหรับปี 2565 ระหว่าง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ น.ส.เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ประเทศไทยและอินโดไชน่า

นายอนุทิน ระบุว่าวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้อ 30 ล้านโดสนั้น จะเริ่มทยอยส่งมอบให้ประเทศไทย ตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2565 เป็นต้นไป โดยจะนำมาใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งจะฉีดได้ถึง 30 ล้านคน ยืนยันว่าวัคซีนในปี 2565 มีเพียงพอ เพราะยังมีวัคซีนแอสตราเซนเนกาอีก 60 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนโปรตีนซับยูนิตที่ไทยกำลังพัฒนา

 

หากผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว จะสำรองไว้ใช้อีก 20 ล้านโดส ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 ทุกเทคโนโลยี

นอกจากนี้ในการสั่งซื้อ 30 ล้านโดส ยังมีเงื่อนไขพิเศษให้สั่งเพิ่มได้อีก 20 ล้านโดสโดยไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำเพิ่ม และจะมีการขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย เพื่อใช้ฉีดเด็กอายุ 5-11 ปี เมื่อขึ้นทะเบียนแล้วจะนำเข้าวัคซีนสูตรเด็กมาฉีดเด็กอายุ 5-11 ปี ประมาณ 5 ล้านคน ในปีหน้า

ลงนามจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ 50,000 โดส

ทั้งนี้ ยังมีการลงนามสัญญาจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 50,000 โดสหรือ 2,000,000 เม็ด โดยยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพลดการป่วยรุนแรงในผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด- 19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ที่จะจัดหาเข้ามานั้น มีผลการศึกษาระยะที่ 3 จากอาสาสมัครที่เข้าร่วมในโครงการจำนวน 762 คนที่สหรัฐอเมริกา โดยติดตามหลังให้ยาเป็นเวลา 29 วัน

ผลการศึกษาทางคลินิกในเบื้องต้นพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์เข้ารักษาที่โรงพยาบาล 28 คน คิดเป็นร้อยละ 7 ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเข้ารักษาที่โรงพยาบาล 53 คน คิดเป็นร้อยละ 14 มีผู้เสียชีวิต 8 คน

สรุปได้ว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ลดความเสี่ยงเสียชีวิตหรือรักษาตัวในโรงพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อยถึงปานกลางได้ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก

ส่วนความคืบหน้าฉีดวัคซีน คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติคาดว่า จะฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนนี้ เพราะไทยมีวัคซีนเพียงพอแล้ว

 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

ระดมตรวจ ATK กาดหลวงเชียงราย พบติดเชื้อกว่า 100 คน

คอมมานโดรวบ "ช่างภาพกองประกวด" คดีล่วงละเมิดนางงาม

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง