นักรัฐศาสตร์สะท้อนปัญหา อบต.ไม่มีบทบาท เหตุโครงสร้างรัฐรวมศูนย์

การเมือง
26 พ.ย. 64
10:27
371
Logo Thai PBS
นักรัฐศาสตร์สะท้อนปัญหา อบต.ไม่มีบทบาท เหตุโครงสร้างรัฐรวมศูนย์
นักรัฐศาสตร์มอง โครงสร้างรัฐรวมศูนย์ ไม่เอื้อให้ อบต.ทำหน้าที่ตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ อบต.ขนาดเล็กห่างไกลจัดเก็บงบฯได้น้อย อบต.ขนาดใหญ่ไม่มีอำนาจ

อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งนายก อบต.และสมาชิก อบต.แล้ว หลังว่างเว้นการเลือกตั้งมานาน ผลสำรวจของ กกต.ระบุว่าผู้มีสิทธิร้อยละ 73.5 จะไปใช้สิทธิแน่นอน

โครงสร้างรัฐไทย ไม่เอื้อท้องถิ่นมีบทบาท

รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ที่ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ มองถึงปัญหาของ อบต.ที่ไม่อาจตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของประชาชนได้ตามที่คาดหวังเนื่องจากมีปัญหาที่สำคัญคือโครงสร้างรัฐที่รวมศูนย์


รศ.อลงกรณ์ ระบุว่า โครงสร้างรัฐไทยไม่เอื้อให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต.ที่มีอำนาจอย่างจำกัดในการจัดการทรัพยากรและบริการสาธารณะในพื้นที่ เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมจากส่วนกลาง ทั้งที่ปัญหาของประชาชนนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งการแก้ไขปัญหาอยู่กับ กรมป่าไม้ ปัญหาประชาชนริมน้ำขึ้นอยู่กับกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน หรือ ปัญหาน้ำแล้งในการปลอ่นน้ำจากเขื่อนก็ขึ้นอยู่กับกรมชลประทาน

ดังที่เห็นได้จากไทยกฎหมายต่าง ๆ มากมาย และมีกรมต่าง ๆ รวมกว่า 200-300 กรม ซึ่งก็ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่ดีพอ ซึ่งเป็นผู้ถืออำนาจในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของประชาชนกว่า 7,000 ตำบล หรือ กว่า 70,000 หมู่บ้าน


ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องการให้แก้ไขอยู่ในพื้นที่ แต่การอนุมัติการแก้ไขปัญหาอยู่ที่ส่วนกลาง เมื่อชาวบ้านเรียกร้องไปยัง อบต.แล้ว อบต.ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

สาเหตุที่ อบต.มีอำนาจอย่างจำกัด เพราะรัฐไทยสร้างให้พื้นที่มีราชการส่วนกลางและภูมิภาคเข้มแข็งมากจนไปกดทับท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่แข็งแรงและไม่เติบโต

ดังที่เห็นได้ชัดจาก ในช่วงของการแก้ไขสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งในระหว่างที่รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่บริการสาธารณะต่าง ๆ มีน้อยมาก ซึ่งท้องถิ่นควรที่จะทำหน้าที่นั้นได้โดยดำเนินการควบคู่กันไป แต่ก็ไม่มีอำนาจในการดำเนินการบริการสาธารณะต่าง ๆ จึงชะงักไปด้วยเช่น การดูแลเด็ก การดูแลกีฬา หรือ อื่น ๆ


อบต.ขนาดเล็กงบฯน้อย อบต.งบฯเยอะขาดอำนาจ

รศ.อลงกรณ์ ยังกล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญของ อบต.คืองบประมาณ เนื่องจากรายได้จากภาษีของส่วนกลางเป็นโครงสร้างภาษีขนาดใหญ่เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ขณะที่ส่วนท้องถิ่นจะมีภาษีที่เก็บได้น้อยกว่า เช่น ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นรายได้ที่น้อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต.ขนาดเล็กห่างไกลที่ไม่มีห้างร้าน จะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีดังกล่าวได้น้อย

ด้าน อบต.ขนาดใหญ่ หรือ อบต.ในเขตเมือง แม้ว่าจะจัดเก็บงบประมาณได้มากราว 300 - 400 ล้านบาท แต่ก็มีอำนาจจำกัดในการใช้งบประมาณ จึงไม่สามารถทำให้เกิดโครงการที่ตอบสนองต่อท้องถิ่นได้ เช่น การสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ดังนั้นจึงเห็นโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่

การตรวจการทุจริตของ อบต.ก็เป็นเรื่องดี เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงการสามารถตรวจสอบได้ แตกต่างจากหลายองค์กรที่ไม่มีข่าวเช่นนี้เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้

นอกจากนี้งบประมาณจากส่วนกลางโดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่ถูกจัดสรรตามภารกิจและรายจ่ายประจำของสมาชิก อบต.นายกฯ และข้าราชการจึงทำให้งบลงทุนที่เหลืออยู่ 30 – 40 % ซึ่งเมื่อจัดสรรจากระดับตำบลไปยังหมู่บ้านต่าง งบประมาณในแต่ละปีจึงเหลือน้อย

อบต.แทบจะเป็นเพียงไปรษณีย์หรือทางผ่านของงบประมาณเท่านั้น เพราะงบที่ถูกจัดสรรลงไป สุดท้ายจะเหลืองบลงทุนราว 30 – 40 % ซึ่งน้อยมาก


ข้อดีเลือก อบต."ปชช.เชื่อมโยงการเมือง-กระตุ้นศก."


อย่างไรก็ตาม รศ.อลงกรณ์ มองว่า การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้มีข้อดีคือ ในช่วง 8-10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนกับการปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ขาดการเชื่อมโยงกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเริ่มกลับมามีความเชื่อมโยงกันอีกครั้ง ตั้งแต่มีการเลือกตั้ง อบจ.เลือกตั้ง เทศบาล รวมถึง การเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้

นอกจากนี้ การเลือกตั้ง อบต.ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีมากโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งมีการใช้จ่ายผ่านการจ้างทีมงาน การจัดทำแผ่นป้าย แผ่นพับ รถแห่ ซึ่งรวมทั้งหมดจะทั้งการเลือกตั้งสมาชิก อบต.และ นายก อบต.เม้ดเงินโดยรวมจะอยุ่ที่ราว 15,000 ล้านบาท


รวมถึง สิ่งที่เห็นได้ชัดในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้มีความรู้ความสามารถที่มากขึ้นทั้งจากอายุที่น้อยลง รวมถึง ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งจะพบว่ามีทั้งผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท รวมถึงเจ้าหน้าที่ก็จบการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ดังนั้น ภาพลักษณ์ของ อบต.จึงไม่ใช่ภาพเดิมที่เคยเห็นมาตลอด 20 ปีแล้ว

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง