เปิดภาพไวรัสโควิด "โอมิครอน" โปรตีนหนามมากกว่าเดลตา

ต่างประเทศ
28 พ.ย. 64
19:39
3,480
Logo Thai PBS
เปิดภาพไวรัสโควิด "โอมิครอน" โปรตีนหนามมากกว่าเดลตา
นักวิทยาศาสตร์จากอิตาลี เผยแพร่ภาพไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเห็นชัดเจนว่ามีโปรตีนหนามมากกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่จนถึงตอนนี้ยังระบุได้ไม่ว่าสายพันธุ์ใหม่จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือไม่

วันนี้ (28 พ.ย.2564) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ประเทศอิตาลี นำภาพของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนออกเผยแพร่ ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้ มีการกลายพันธุ์บริเวณโปรตีนหนามมากกว่าสายพันธุ์เดลตา

 

ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ เพราะโปรตีนหนามถือเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าสู่เซลส์ อาจทำให้ไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีขึ้น แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดลตาหรือไม่

ออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรก

ออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 2 คน ซึ่งเดินทางมาจากแอฟริกาใต้มาลงที่นครซิดนีย์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทั้งคู่ได้รับวัคซีนครบจำนวนแล้ว และไม่มีอาการใด ๆ ส่วนผู้โดยสารอีก 12 คน ที่เดินทางมาด้วยกัน ตอนนี้ถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เช่นเดียวกับผู้โดยสารอีกประมาณ 260 คน และลูกเรือก็ถูกกักตัวเช่นกัน

การพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกของประเทศ ทำให้รัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศว่า ผู้ที่เดินทางมาจาก 9 ประเทศในทวีปแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เลโซโท บอตสวานา ซิมบับเว โมซัมบิก นามิเบีย เอสวาตินี มาลาวี และเซเชลส์ ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่น จะต้องกักตัวและแยกออกมาอยู่ตามลำพังเป็นเวลา 72 ชั่วโมง

 

สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียยอมรับว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่น่ากังวล เพราะขยับจากไวรัสที่ต้องสอบสวนไปเป็นไวรัสที่น่ากังวลในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่กำหนดให้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ นอกจากออสเตรเลียแล้ว ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนก่อนหน้านี้ ประกอบไปด้วย แอฟริกาใต้ บอตสวานา ฮ่องกง อิสราเอล เบลเยียม อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี

 

ที่มา AFP

 

อ่านข่าวอื่น ๆ 

ปิดพรมแดน "อิสราเอล" ห้ามต่างชาติเข้าประเทศสกัด "โอมิครอน"

"อังกฤษ-เยอรมนี-อิตาลี" พบคนติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

อนามัยโลกตั้งชื่อ "Omicron" โควิดพันธุ์ใหม่น่ากังวลในแอฟริกา

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง