วิจัยชี้ช่วง COVID-19 พบขยะพลาสติกในมหาสมุทรกว่า 25,900 ตัน

Logo Thai PBS
วิจัยชี้ช่วง COVID-19 พบขยะพลาสติกในมหาสมุทรกว่า 25,900 ตัน
งานวิจัยชี้ช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 มีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงมหาสมุทรกว่า 25,900 ตัน

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยหนานจิง ประเทศจีน เปิดเผยแพร่รายงานการศึกษาปริมาณความต้องการใช้พลาสติกในช่วงการระบาดใหญ่ COVID-19 ลงบนวารสารออนไลน์ PNAS พบว่ามีจำนวนการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นและกลายเป็นขยะถูกทิ้งลงมหาสมุทรจำนวนกว่า 25,900 ตัน โดยประมาณ 87.4% เป็นขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ไม่ได้รับการจำกัดอย่างถูกต้อง (MMPW) และมีความเกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคหรือการรักษาโรค COVID-19 ในโรงพยาบาล

การวิจัยใช้การศึกษาข้อมูลจาก 193 ประเทศ พบว่าสามารถแยกปริมาณขยะตามแหล่งกำเนิดเป็นกลุ่มประเทศต่าง ๆ เช่น กลุ่มประเทศทวีปเอเชีย 46% กลุ่มประเทศยุโรป 24% และกลุ่มประเทศอเมริกาเหนือและใต้ประมาณ 22% ในจำนวนขยะทั้งหมดมีประมาณ 7.6% เป็นชุด PPE และหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังพบว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกจากการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ปิดเมืองต่าง ๆ

ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ไหลลงสู่มหาสมุทรจากแม่น้ำสายสำคัญ 369 แห่ง โดยเฉพาะในแม่น้ำแยงซีในประเทศจีนมีขยะกว่า 3.7 ตัน แม่น้ำดานูบในยุโรปประมาณ 1,700 ตัน จากการศึกษาแบบจำลองพบว่าขยะพลาสติกกระจายตัวอยู่บริเวณชายฝั่งก่อนลอยออกไปสู่มหาสมุทรใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ขยะประมาณ 70.5% กระจายอยู่บริเวณชายฝั่งและขยะประมาณ 28.8% จมลงสู่ก้นทะเล

งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงปัญหาขยะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในมหาสมุทรได้รุนแรงในอนาคต รัฐบาลในแต่ละประเทศควรให้ความสำคัญในการกำจัดขยะในแม่น้ำลำคลอง ส่งเสริมการรีไซเคิลขยะและใช้งานวัสดุที่ย่อยสลายได้หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาสมุทรเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตหลายชนิดทั้งที่อยู่อาศัยในมหาสมุทรและบนแผ่นดินใหญ่

ที่มาข้อมูลและภาพ: designboom.com
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง