ปริศนาโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" มาจากไหน?

ต่างประเทศ
1 ธ.ค. 64
19:19
541
Logo Thai PBS
ปริศนาโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" มาจากไหน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปริศนา COVID-19 "สายพันธุ์โอมิครอน" มีต้นตอมาจากไหน หลังตรวจสอบในเนเธอแลนด์พบระบาดเป็นวงเล็ก ๆ ภายในประเทศ ก่อนมีรายงานในแอฟริกาใต้ จนนำไปสู่การตั้งคำถามว่า แอฟริกาอาจไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของสายพันธุ์นี้แต่ถอดรหัสพันธุกรรมได้ก่อนเท่านั้น

วันนี้ (1 ธ.ค.2564) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์แถลงพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่กลุ่มแรกเป็นคนที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ แต่การตรวจตัวอย่างเชื้อที่เก็บมาในวันที่ 19 และ 23 พ.ย.2564 พบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน 2 ตัวอย่าง

ขณะที่หนึ่งในตัวอย่างมาจากผู้ไม่มีประวัติเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงในแอฟริกามาก่อน ซึ่งหมายความว่าสายพันธุ์โอมิครอนอาจแพร่ระบาดในเนเธอร์แลนด์ก่อนที่แอฟริกาใต้จะพบเชื้อสายพันธุ์นี้ ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายเป็นวงกว้างในยุโรปแล้วหรือไม่

เบลเยียมและเยอรมนีต่างก็พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ก่อนที่แอฟริกาใต้จะแจ้งองค์การอนามัยโลกเช่นกัน ปริศนาเกี่ยวกับต้นตอของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขบอตสวานา

สมมติฐานใหม่กับต้นตอโอมิครอน

บอตสวานาตรวจพบเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ในนักการทูตต่างชาติ 4 คน ที่มีประวัติเดินทางไปหลายประเทศ โดยนักการทูตกลุ่มนี้เดินทางมาปฏิบัติงานที่บอตสวานา เมื่อวันที่ 7 พ.ย. และตรวจพบเชื้อในอีก 4 วันต่อมา จากนั้นหน่วยงานสาธารณสุขส่งตัวอย่างเชื้อทั้งหมดไปถอดรหัสพันธุกรรมและพบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนนักการทูตทั้ง 4 คนนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนและเดินทางมาจากประเทศอะไรบ้างยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่สมมติฐานว่าสายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่ได้เกิดขึ้นในบอตสวานาเป็นประเทศแรก แต่บอตสวานาและแอฟริกาใต้มีความก้าวหน้าในการถอดรหัสพันธุกรรมจนพบสายพันธุ์นี้ก่อนประเทศอื่น

ผู้นำแอฟริกาใต้เคยแสดงความผิดหวังต่อปฏิกิริยาของประชาคมโลกจากการใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง ทั้ง ๆ ที่แอฟริกาใต้ถอดรหัสพันธุกรรมจนพบสายพันธุ์โอมิครอนและแจ้งต่อองค์การอนามัยโลกให้เฝ้าระวัง

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก เตือนว่า การใช้มาตรการเหวี่ยงแหของหลาย ๆ ประเทศไม่ได้ช่วยป้องกันสายพันธุ์ใหม่ แต่หลาย ๆ ประเทศจำเป็นต้องขยับตัวเพื่อปกป้องประชาชนจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีข้อมูลมากพอเช่นกัน

ที่มา : Reuters, BBC, CNN, DW, AFP

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง