ซื้อ "กล่องสุ่ม" อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงถูกโกง ?

สังคม
2 ธ.ค. 64
12:58
1,638
Logo Thai PBS
ซื้อ "กล่องสุ่ม" อย่างไร ไม่ให้เสี่ยงถูกโกง ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"กล่องสุ่ม" ของ "พิมรี่พาย" อาจจุดกระแสให้ใครหลายคนเริ่มสนใจจะสั่งซื้อหวังเสียเงินน้อยแต่ได้ของมูลค่ามาก แต่ไม่ใช่ทุกครั้งและทุกคนที่จะได้รับสินค้าที่คุ้มค่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะเทคนิคตรวจสอบก่อนโอนเงินสั่งซื้อ "กล่องสุ่ม" เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหาย

กลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ยูทูบเบอร์ชื่อดัง "พิมรี่พาย" ได้เปิดให้สั่งจองกล่องสุ่มในราคา 100,000 บาท โดยภายหลังเริ่มมีการเผยแพร่คลิปรีวิวหลังได้รับกล่องสุ่มดังกล่าว โดยพบว่าบางคนได้โซฟา แบรนด์เนม ไปจนถึงรถป้ายแดง และหนึ่งในผู้ที่ได้รับรถคือ บล็อกเกอร์ "นุ่น นพลักษณ์" จนเกิดการตั้งข้อสังเกตว่ามีการติดต่อกันมาก่อนหรือไม่ ซึ่ง "นุ่น นพลักษณ์" ก็ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กแล้วว่า เป็นเรื่องจริง และขอให้เชื่อว่าระดับพิมรี่พายไม่จ้างให้ทำอะไรแบบนี้

จากกระแสที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคบางคนอาจเริ่มสนใจสั่งซื้อ "กล่องสุ่ม" ที่คุ้มแสนคุ้มด้วยการจ่ายเงินเพียง 100,000 บาท แต่ได้รถป้ายแดง 1 คัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนจะได้สินค้าเกินความคาดหมาย และไม่ใช่ทุกร้านที่จะส่งสินค้าที่มีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่าราคาที่ลูกค้าจ่ายไป เพราะกระแส "กล่องสุ่ม" ที่มีปรากฏให้เห็นมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็มีผู้เสียหายจำนวนไม่น้อยที่ได้ไม่คุ้มเสีย

"นฤมล เมฆบริสุทธิ์" หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า สิ่งที่ผู้บริโภคควรพิจารณาก่อนสั่งซื้อกล่องสุ่มและโอนเงินไป คือ ความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจ โดยตรวจสอบร้านค้าว่ามีช่องทางการขายจริงหรือไม่ จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือยัง

นอกจากนี้ เว็บไซต์ Blacklistseller ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า มีร้านไหนที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดจากการขายสินค้า

กล่องสุ่มมาจากร้านค้าที่มีการโฆษณาสินค้าอยู่ในเว็บไซต์หรือเพจของตัวเอง ดังนั้น สินค้าที่ได้รับอย่างน้อยต้องเป็นสินค้าที่เคยเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ และเป็นสินค้าที่ลูกค้ามีความต้องการ

ทั้งนี้ การซื้อกล่องสุ่มเหมือนเป็นการลุ้นว่าหากเสียเงิน 500 บาท จะได้อะไร ดังนั้นสินค้าต้องมีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่า 500 บาท จึงจะคุ้มค่า จึงขอแนะนำให้ผู้บริโภคระมัดระวังตั้งแต่ต้นทาง 

มองผ่านมุมนักจิตวิทยากับการเล่น "กล่องสุ่ม"

ขณะที่ ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกล่องสุ่มในทางจิตวิทยาว่า คนมีความต้องการความตื่นเต้น แปลกใหม่ ท้าทาย ซึ่งนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการซื้อกล่องสุ่ม หากมองในแง่การลงทุน ลูกค้ามักจะมีความคาดหวังว่าการลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า แต่ก็ไม่ใช่ในทุกกรณี จริงๆ แล้วความคุ้มค่าหากมองในเชิงผู้บริโภค การซื้อสินค้าจะต้องได้รับสินค้าที่ต้องการ แต่กล่องสุ่มอาจไม่ตอบโจทย์ในจุดนี้

อย่างไรก็ตาม ในอดีตคาดว่ากล่องสุ่มเกิดจากสินค้าบางประเภทขายไม่ดี หรืออยู่นอกฤดูกาล เจ้าของร้านก็ใช้เทคนิคนี้ในการขาย สร้างความประหลาดใจให้ลูกค้าด้วย ดังนั้น ก่อนซื้อจะมีการโฆษณาให้เห็นชัดถึงประเภทสินค้า ซึ่งทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าควบคุมความเสี่ยงได้บางส่วน โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนม

ด่อนซื้อกล่องสุ่มขอให้นึกถึงความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นด้วย หากมองถึงผลในระยะยาว ก็ควรได้รับสินค้าที่ต้องการจริง ๆ ไม่ใช่แค่ได้รับความประหลาดใจหรือตื่นเต้นจากสินค้าที่เราไม่ต้องการ

 

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สินค้ากล่องสุ่ม" ได้ไม่คุ้มเสีย กฎหมายคุ้มครองหรือไม่ ?

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง