"คนกลางคืน-อาชีพอิสระ" ลุ้นเยียวยา 5,000 บ. รอเคาะ 3 ธ.ค.

สังคม
2 ธ.ค. 64
17:21
3,805
Logo Thai PBS
"คนกลางคืน-อาชีพอิสระ" ลุ้นเยียวยา 5,000 บ. รอเคาะ 3 ธ.ค.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คนกลางคืน-อาชีพอิสระ เตรียมเฮ เคาะเยียายา วันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) ขณะที่ รมว.แรงงาน วางธงเยียวยาคนละ 5,000 บาท พร้อมชงโมเดลช่วยลูกจ้างในระบบ มาตรา 33 อาจได้ 2 เด้งจากสำนักงานประกันสังคม และรัฐบาล

วันนี้ (2 ธ.ค.2564) นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักแสดง นักดนตรี และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ผับ คลับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ว่า เรื่องนี้ต้องขอดูตัวเลข กับผู้ประกอบการก่อน ในวันที่ 3 ธ.ค. แต่เบื้องต้นเรามีตัวเลขในระบบอยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่เป็นอาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 ซึ่งเดิมมีการเยียวยาไว้ที่ 5,000 บาท 29 จังหวัด ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ 20,000 คน แต่หากรวมทั้งประเทศ คาดว่าเต็มที่ไม่เกิน 100,000 - 200,000 คน

นอกจากกลุ่มดังกล่าวแล้ว ยังรวมไปถึงกลุ่มคนขับรถรับส่งนักดนตรี เด็กเสิร์ฟ หรืออาชีพที่ได้รับรองจากสมาคมฯ และสมาคมฯ ยืนยันได้ และต้องดูอายุ หากเกิน 65 ปี จะไม่เข้าข่ายมาตรา 40 อาจจะประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ต้องรอดูตัวเลขจากสมาคมฯ ที่จะมาพบในเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ธ.ค. ว่าตัวเลขคนกลุ่มดังกล่าวมีเท่าไหร่ ซึ่งจะการเสนอขอสภาพัฒน์ฯ ต้องมีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งไม่สามารถพูดลอยๆ ได้

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมคาดว่าจะได้ข้อสรุปเป็นเช่นใด เนื่องจากตัวเลขรัฐบาล และผู้ประกอบการต่างกันหลายเท่าตัว โดยในหลักการ นายกฯให้การเยียวยาอยู่แล้ว

ยอมรับมีธงเยียวยาในใจที่ 5,000 บาท

นายสุชาติ กล่าวว่า มีธงในใจไว้ที่ 5,000 บาท เพราะเป็นเงินกู้ของรัฐบาลไม่ใช่เงินของประกันสังคม แต่มีบางกรณีใช้เงินในเหตุสุดวิสัยในมาตรา 33 ในอัตรา 50% เข้าข่ายช่วยอีกทางหนึ่งประกอบด้วยลูกจ้างในระบบ เช่น เด็กเสิร์ฟ เสมียน ซึ่งในส่วนนี้จดทะเบียนในประกันสังคม

แต่เรื่องนี้เป็นเพียงหลักการของตนเอง ซึ่งยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุม แต่ต้องมีโมเดลในใจ ดังนั้น หากเป็นลูกจ้างในมาตรา 33 ด้วยอาจจะได้รับการเยียวยา 2 ทาง คือสำนักงานประกันสังคม และจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม มีบรรทัดฐานการเยียวยา 5,000 บาท จากครั้งก่อน ซึ่งการเยียวยาสถานบริการบันเทิง ส่วนใหญ่เป็นบริษัท เขาสามารถใช้สิทธิ์ sme ได้ ซึ่งให้หัวละ 3,000 บาทในลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ซึ่งเป็นโมเดลที่รัฐบาลสร้างไว้เยียวยาไว้แล้ว

ขณะที่ลูกจ้างในระบอบประกันสังคม มาตรา 33 ก็สามารถใช้คำสั่ง ศบค.ใช้เยียวยาเหตุสุดวิสัยได้ แต่หากเป็นอาชีพอิสระใช้มาตรา 40 ซึ่งจะต้องสมัครใหม่ หรือหากสมัครไปแล้วก็ต้องไปดูตัวเลขเท่าใด

ส่วนระยะเวลาในการเยียวยาจำนวนกี่เดือน ต้องดูคำสั่ง ศบค. หากธุรกิจเปิดช้าไปกว่าวันที่ 16 ม.ค.2565 ก็จะพิจารณาต่อไปโดยตั้งไว้ 1-2 เดือน แต่หากเปิดได้ก่อนก็ไม่เป็นไร

ตัวเลขจ้างงานปี 64 พุ่งกว่า 680,000 คน

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า เตรียมเสนอรายงานตัวเลขการจ้างงานและการว่างงานต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งจากตัวเลขในระบบประกันสังคมตามเลขบัตรประชาชน พบว่ามีประมาณ 11 ล้านคน เพราะเป็นตัวเลขที่จะทำให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน ตามที่สภาพัฒน์ฯ แนะนำให้ใช้เป็นตัวเลขอ้างอิง แทนการใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง เพราะตัวเลขจะไม่นิ่ง หากสอบถามก็จะระบุกลับมาว่าว่างงานทั้ง 100%

ทั้งนี้ สวนทางกับกลุ่มธุรกิจการส่งออก ที่ระบุว่ายังต้องการแรงงานทั้ง 100% ซึ่งการใช้เลขประจำตัว 13 หลัก และยังทำให้รู้ได้อีกว่าผู้ประกันตนที่ออกจากบริษัทหนึ่งแล้วไปอยู่อีกบริษัทหนึ่งเมื่อไหร่ เนื่องจากผู้ประกอบการ ต้องแจ้งเข้าระบบประกันสังคม นอกจากนี้ จะรายงานให้ที่ประชุมทราบว่ามีธุรกิจประเภทใด และจังหวัดใดที่การจ้างงานเริ่มฟื้นตัวบ้าง

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานในปี 2564 พบเป็นบวก มีจำนวนกว่า 680,000 คน โดยเฉพาะการส่งออก จากโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ เป็นภาคธุรกิจที่แข็งแรง ขณะที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว ซึ่งกระทรวงแรงได้เก็บข้อมูลจ้างงานธุรกิจประเภทนี้

ดังนั้น การสื่อสารตัวเลขที่แท้จริงนี้ จะทำให้นักลงทุนเข้าใจ ซึ่งธุรกิจประเภทต่างๆ ไม่ได้ล้มหายไปพร้อมกันหมด เพราะมีตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นว่ามีธุรกิจที่ฟื้นกว่า 98% เช่น ค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าฟื้นกว่า 80-90% ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและบริการ ฟื้นประมาณ 40%

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รมว.แรงงาน เชิญนักร้อง-นักดนตรีกลางคืน หารือแนวทางช่วยเหลือ จันทร์นี้

"นักร้อง-นักดนตรี" ฟ้องศาลแพ่งให้รัฐบาลเยียวยาจากคำสั่งปิดสถานบันเทิง

ลุ้น! ศบค.ปลดล็อกสถานบันเทิง-เล็งต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน

ธุรกิจกลางคืน-นักดนตรี-ดีเจ-บาร์เทนเดอร์-อีเว้นต์ ถามซ้ำเยียวยาโควิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง