เทคโนโลยีที่อาจสามารถช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น

Logo Thai PBS
เทคโนโลยีที่อาจสามารถช่วยให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การมีชีวิตที่ยืนยาวเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมนุษย์ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีในอนาคตอาจสามารถทำให้มนุษย์บรรลุเป้าหมายสูงสุดนี้ได้

นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาเทคโนโลยีช่วยในการรักษาโรค และอาจสามารถยืดอายุของมนุษย์ให้ยาวนานมากขึ้น จากรายงานของธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่แห่งหนึ่งในวอลล์สตรีทประเมินว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการยืดอายุของมนุษย์ อาจมีมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 สอดคล้องกับข้อมูลจากหลายประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้อายุ และมีอัตราการลดลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง

จีโนมิกส์ (Genomics)


จีโนมิกส์หรือการศึกษาจีโนมมนุษย์อาจนำไปสู่การแก้ไขยีนพันธุกรรม ( Heredity ) ให้กับมนุษย์รุ่นต่อไปมีสภาพร่างกายแข็งแรงมากขึ้นหรือสามารถมีภูมิคุ้มกันโรคบางชนิดติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด การค้นพบจีโนมเกิดขึ้นในช่วงปี 1953 และได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจโครงสร้างทางพันธุกรรมของเซลล์สิ่งมีชีวิตเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวข้องกับการจัดเรียงตัวของ DNA การทำงานร่วมกันระหว่างยีน รูปร่างลักษณะร่างกายของมนุษย์ซึ่งอาจนำไปสู่การไขกุญแจความลับของชีวิตและการยืนอายุของมนุษย์ให้ยาวนานเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการแก้ไขยีนพันธุกรรมของมนุษย์ยังไม่เกิดขึ้นเนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับจริยธรรม

การใช้ Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)


เทคโนโลยีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายของมนุษย์แต่ละคนเพื่อจัดรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมและยืดอายุให้เพิ่มมากขึ้น เช่น ข้อมูลจำเพาะด้านชีวภาพของมนุษย์แต่ละคน ปริมาณการรับประทานอาหาร ช่วงเวลาในการพักผ่อน ปริมาณการออกกำลังกาย ยารักษาโรคที่เหมาะสมกับบุคคล นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากมีการจัดเก็บข้อมูลระยะยาวและนำข้อมูลมาจัดการอย่างเหมาะสมจะสามารถนำมาใช้ประกอบการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อยืดอายุให้ยาวนานขึ้นได้

นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)


นาโนเทคโนโลยีหนึ่งในเทคโนโลยีที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลก นักวิทยาศาสตร์คาดการว่าภายในช่วงปี 2030 อาจมีการพัฒนานาโนเทคโนโลยีในลักษณะของหุ่นยนต์หรืออุปกรณ์ขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปซ่อมแซมความเสียหายระดับเซลล์ในร่างกายของมนุษย์ได้ซึ่งจะกลายเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวิทยาการทางการแพทย์ในการเอาชนะโรคต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามนาโนเทคโนโลยีปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาและยังไม่มีการทดลองกับร่างกายมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีขนาดเล็ก เช่น วงจรไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ยังคงเป็นสิ่งท้าทายทางด้านวิศวกรรมในการสร้างโครงสร้างที่มีความซับซ้อนระดับนาโน นาโนเทคโนโลยีมีขนาดเล็ก 1 นาโนเมตรมีขนาดเท่ากับเศษหนึ่งส่วนพันล้านส่วนของหนึ่งเมตรหรือขนาดเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ประมาณ 1 แสนเท่า

การโคลนนิ่งและปลูกถ่ายอวัยวะ (Cloning and body part replacement)


ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความพร้อมที่จะทดลองโคลนนิ่งมนุษย์แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากขัดต่อประเด็นจริยธรรม มนุษย์ไม่สามารถเล่นบทพระเจ้าเพื่อกำหนดชีวิตของมนุษย์อีกคนให้เกิดมามีลักษณะอย่างไรได้ นอกจากนี้ยังมีประเด็นความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น ความทรงจำ ลักษณะนิสัยที่ไม่สามารถส่งต่อกันได้แม้การโคลนนิ่งจะสามารถสร้างมนุษย์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนชิ้นส่วนของร่างกายสามารถกระทำได้ โดยล่าสุดบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาพยายามทดลองปลูกถ่ายอวัยวะของหมูเพื่อใช้ทดแทนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียหาย

ที่มาข้อมูลและภาพ: CNBC, Forbes, Wikipedia, สำนักงานผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง