ศาลฎีกาตัดสิน "บางกอกโพสต์" เลิกจ้าง "เสริมสุข" ไม่เป็นธรรม กรณีข่าวรันเวย์สุวรรณภูมิร้าว-สั่งจ่ายเงินชดเชย

การเมือง
29 มิ.ย. 58
07:03
359
Logo Thai PBS
ศาลฎีกาตัดสิน "บางกอกโพสต์" เลิกจ้าง "เสริมสุข" ไม่เป็นธรรม กรณีข่าวรันเวย์สุวรรณภูมิร้าว-สั่งจ่ายเงินชดเชย

ศาลแรงงานกลางชั้นฎีกา พิพากษาให้บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด จ่ายเงินชดเชยให้กับนายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ อดีตหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กรณีนำเสนอข่าวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าวเมื่อปี 2548

วันนี้ (29 มิ.ย.2558) นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์นิวทีวี อดีตหัวหน้าข่าวสายความมั่นคง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กกรณีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เลิกจ้างไม่เป็นธรรม หลังถูกไล่ออกจากงานเมื่อวันที่ 28 ส.ค.2548 จากเหตุรายงานข่าวรันเวย์สุวรรณภูมิร้าว เป็นข่าวนำหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 9 ส.ค. 2548

นายเสริมสุขเปิดเผยว่า ศาลแรงงานกลางชั้นฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลแรงงานชั้นต้นเห็นว่าการเลิกจ้างของบางกอกโพสต์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่มีความเห็นแตกต่างจากศาลชั้นต้นในเรื่องความเสียหายที่เห็นว่าบางกอกโพสต์ต้องรับผิดชอบความเสียหาย แต่ไม่ได้กำหนดความเสียหายในส่วนนี้ ซึ่งจะเป็นการพิจารณาของศาลแรงงาน กำหนดให้หารืออีกครั้งในวันที่ 17 ก.ค.2558 ที่ศาลแรงงานกลาง

นายเสริมสุขยังโพสต์ข้อความขอบคุณองค์คณะผู้พิพากษาศาลฏีกาแรงงานที่ให้ความเป็นธรรมในคดี เพื่อนๆ ที่ให้กำลังใจ รวมทั้ง พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือเสธ.อ้าย ที่เดินทางมาให้กำลังใจและฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์นำเสนอข่าวรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิร้าวในฉบับวันที่ 9 ส.ค.2548  หลังข่าวถูกตีพิมพ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้สัมภาษณ์สื่อระบุว่าข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริงและเห็นว่าการนำเสนอข่าวลักษณะนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเสียหายและได้สั่งให้กระทรวงคมนาคมฟ้องบางกอกโพสต์ในคดีอาญาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2548 แต่หลังจากนั้นได้ถอนฟ้องในอีก 4 ปีต่อมา

ในส่วนของนายเสริมสุขได้ฟ้องศาลแรงงานกรณีบางกอกโพสต์เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลแรงงานตัดสินเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2550 ให้โจทก์คือนายเสริมสุขชนะคดี โดยศาลเห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจในการสั่งให้นำเสนอข่าวหรือไม่นำเสนอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เป็นอำนาจของหัวหน้ากองบรรณาธิการและการตัดสินใจนำเสนอข่าวดังกล่าวเป็นการตัดสินใจร่วมกันของกองบรรณาธิการ การที่จำเลยลงโทษโจทก์ด้วยการเลิกจ้างถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ในคำตัดสินของศาล ได้สั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแต่ไม่มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้อง ทั้งโจทก์และจำเลยได้ฎีกาคำตัดสินเมื่อปลายปี 2550 และศาลได้นัดฟังคำตัดสินชั้นฎีกาในวันนี้ (29 มิ.ย.)

นายเสริมสุขระบุว่าตนตัดสินใจฟ้องบางกอกโพสต์เพื่อต้องการให้เป็นบรรทัดฐานต่อสังคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง