บทบาทการทูตและการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน

ต่างประเทศ
9 ธ.ค. 64
10:52
3,468
Logo Thai PBS
บทบาทการทูตและการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไทยขาดยุทธศาสตร์การต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญแนะเร่งปรับตัว แสดงบทบาทนำ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้การทูตและการต่างประเทศของไทย อยู่ในภาวะถดถอย ขาดยุทธศาสตร์ ไม่สามารถนิยามผลประโยชน์แห่งชาติในการดำเนินนโยบายได้อย่างชัดเจน

นักการทูต นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญเสนอให้ภาครัฐเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้ไทยสามารถกลับมามีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนได้อีกครั้ง

ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “บทบาทการทูตและการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 เป็นตอนแรก จากทั้งหมด 5 ตอน โดยมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ เอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (Asia News Network)

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

การถดถอยของระบบพหุนิยม กฎเกณฑ์ของระเบียบโลก รวมตลอดถึงการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยี แต่ประเทศไทยไม่สามารถแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้

ประเทศไทย missing in action คือ หายจากสนามรบ เราไม่ได้แสดงบทบาทที่เด่นชัด การต่างประเทศที่ดี ต้องมีการเมืองที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจที่ก้าวหน้า ทำให้เรามีน้ำหนัก มีพลัง ที่ผมเป็นห่วงตอนนี้คือเราจำกัดตนเองอยู่หรือเปล่า ในด้านการต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เราเห็นปัญหาต่างๆ มันรุมเข้ามา

ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การต่างประเทศของไทยอยู่ในภาวะตกต่ำ ประเทศไทยไม่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ

เขาไม่ละเลยประเทศไทย เขาไม่เมิน แต่เราไม่อยู่สายตาเขา ถ้าในเรื่องของเศรษฐกิจ การพัฒนา การร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคนี้กลับกลายเป็นประเทศเวียดนาม หรืออินโดนีเซียที่เป็นประเทศเนื้อหอม ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเป็นไทย

ฐิตินันท์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการระหว่างประเทศ กล่าวในการสัมมนา
ในขณะที่ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีทักษะทางการทูต แต่กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านั้นได้

ศ.ดร.ฐิตินันท์เน้นว่า การต่างประเทศไทยคือการใช้ทุนของไทยมาอธิบายต่อชาวโลกว่าทำไมไทยถึงเป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่าตั้งแต่การรัฐประหารมา 2 ครั้ง ภายใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรมากมายเพื่ออธิบายในเวทีโลกว่า ทำไมถึงต้องมีการยึดอำนาจ การต่างประเทศออกมาในลักษณะขอไปที อยู่ไปวันๆ ทั้งๆ ที่พลวัตรในภูมิภาคเรามันเชี่ยวมาก แต่ไทยกลับหลบ เอาตัวรอดไปวันๆ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศที่ชัดเจน ทำให้ไม่มีที่ยืนในเวทีโลก เขาใช้คำพูดที่เป็นที่นิยมกันมาก ในหมู่นักการทูตไทยรุ่นเก่าว่า การต่างประเทศของไทยไม่มี “กระดูกสันหลัง” ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หลังการรัฐประหาร นโยบายต่างประเทศของไทยเป็นแบบตั้งรับ ขาดคุณค่าและเรื่องเล่าสำคัญ ในขณะที่พลวัตรของการเมืองโลกเปลี่ยนแปลงเร็วแต่ประเทศไทยกลับไม่สามารถตามความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้

ถ้าเราไม่สามารถมองรอบโลกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วอธิบายได้ว่า มันกระทบกับปากท้องของประชาชนยังไง มันก็ไม่มีความชัดเจนของนโยบายต่างประเทศ

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการสัมมนาครั้งเดียวกันนี้ว่า ประเทศไทยจะต้องนิยามผลประโยชน์แห่งชาติเสียใหม่อย่างชัดเจน วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันทางอำนาจของโลกว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของไทยและภูมิภาคนี้อย่างไร

ความซับซ้อนของโลกมีมากขึ้น ความขัดแย้ง เทคโนโลยี ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า กติกาเดิมมันไปไม่ได้แล้ว แต่เรายังไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร เพราะมัวแต่วุ่นกับการอธิบายประชาคมโลกว่าไทยเป็นยังไง

"การต่างประเทศถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งของการเป็นรัฐบาลทุกรัฐบาล แต่ในตอนนี้กลับให้ความสำคัญน้อยมาก แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ยังนิยามผลประโยชน์ของประเทศได้ไม่ชัด ยังมองไม่ออกว่าผลประโยชน์ของเราในแต่ละเรื่อง แต่ละประเทศคืออะไรกันแน่” นายเกียรติ ซึ่งเป็นอดีตผู้แทนการค้าไทยกล่าว

เราเคยเป็นแกนนำอาเซียน แต่ตอนนี้เราเป็นตัวประกอบ เราต้องเปลี่ยนตรงนี้ เราไม่มีเอกภาพหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องการต่างประเทศ ทำให้บางครั้งมักมีการใช้ผลประโยชน์จากตรงนี้จากประเทศต่างๆ

ผศ.ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นต่างไปจากผู้ร่วมอภิปรายคนอื่นๆ เพราะมองว่า กิจการต่างประเทศไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการแสดงบทบาทของภาครัฐเท่านั้น เพราะภาครัฐกำลังลดความสำคัญลงมากในโลกยุคปัจจุบัน

เธอเสนอให้มีการนิยามคำว่า “การต่างประเทศ” ใหม่ “การต่างประเทศ ไม่ได้มีแค่บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ มันเป็นบทบาทของทุกคน เมื่อเราไม่มีการนิยามตรงนี้ใหม่ เราก็ยิ่งแปลกแยกตัวเองออกมา ซึ่งจุดนี้มองว่าน่ากลัวที่สุด เราต้องมาคิดว่าเมื่อรัฐไม่ได้สำคัญแล้ว แล้วรัฐบาลที่รวมศูนย์แบบนี้จะไปต่อได้อย่างไร นอกจากรัฐที่หมดความสำคัญไปเรื่อยๆ นโยบายต่างประเทศต้องตีกว้างไปเลย มุมมองในเรื่องของการต่างประเทศต้องมีการพลิกเปลี่ยนกันใหม่”

นายเทพชัย หย่อง จากไทยพีบีเอส เวิลด์ (Thai PBS World) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามสำคัญว่า ไทยควรแสดงบทบาทอย่างไรในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาวิกฤตการณ์พม่า ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ผู้ร่วมอภิปรายทั้งหมดเห็นว่า แม้ว่าอาเซียนไม่มีเอกภาพ และไทยเองก็มีความใกล้ชิดกับเมียนมามาก แต่ประเทศไทยควรจะแสดงบทบาทนำในอาเซียน และกระตือรือร้นที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

“ไทยน่าจะสามารถหาทางออกให้กับการเมืองภายในของเมียนมาได้ ในการทำอย่างไร ให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เพราะถ้าเมียนมาไม่เป็นที่ยอมรับก็จะทำให้อาเซียนขาดเมียนมาไป” ศ.ดร.ฐิตินันท์ กล่าว

ด้านนายสีหศักดิ์เห็นว่า ไทยยังขาดยุทธศาตร์ในการรับมือกับวิกฤตเมียนมา และมีบทบาทในอาเซียนน้อยเกินไปในการหาทางออก “สถานการณ์เมียนมาเป็นทั้งวิกฤตของเมียนมาเอง ของอาเซียน และของไทย นโยบายของเราต่อสถานการณ์เมียนมาไม่ได้มียุทธศาสตร์จริงๆ เรามองผลประโยชน์หรือประเด็นเฉพาะหน้าเท่านั้น” อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ กล่าว

เขาเสนอแนะว่า “เราต้องออกแรงมากกว่านี้ เราต้องคิดในแง่ของการเป็นด่านหน้า ในแง่ที่จะเป็นผู้นำ นำอาเซียนได้ แต่เรากลับแอบอยู่หลังอาเซียน ทั้งๆ ที่เรามีช่องทางติดต่อกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายต้องการประชาธิปไตย”

ทั้งนายสีหศักดิ์ นายพิธาและ ผศ.ดร.อรอร เห็นพ้องกันว่า ประเทศไทยควรจะมีบทบาทนำในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา โดยการตั้งระเบียงมนุษยธรรม (humanitarian corridor) บริเวณชายแดนไทยเพราะประชาชนเมียนมาร์ไม่เพียงแต่เผชิญหน้ากับปัญหาทางด้านการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังตกอยู่ในวิกฤตทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาสาธารณสุขอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

ส่วนนายเกียรติเน้นว่า ไทยควรจะสามารถพูดปัญหาสิทธิมนุษยชนกับเมียนมาร์ได้ด้วย

“สิ่งที่น่ากังวลของการต่างประเทศไทยของไทยก็คือ เราแสดงตัวเหมือนเราไม่มีค่านิยมหรือความเชื่อในเรื่องสิทธิมนุษยชน หลักการการไม่แทรกแซงมีไว้เพื่อเป็นข้อแก้ตัวในเรื่องบางเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่เมื่อไหร่ที่ประเทศนั้นๆ ล้ำเส้นเกินกว่าค่านิยมของโลก เราต้องแทรกแซง” นายเกียรติกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง