ชี้การทูตควรนำทางแก้โควิด-19 แนะไทยจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย

ต่างประเทศ
10 ธ.ค. 64
09:30
544
Logo Thai PBS
ชี้การทูตควรนำทางแก้โควิด-19 แนะไทยจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การทูตวัคซีนไม่ได้หมายถึงการใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือ สร้างอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น เจ้าหน้าที่-นักการเมืองไทยก็ดำเนินการทางการทูตสาธารณสุขระดับโลก เพื่อแสวงหาวัคซีนให้ประชาชนไทยและพัฒนาอุตสาหกรรม

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวในการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “การทูต การสาธารณสุขและวัคซีนโควิด-19” เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงแต่ต้องหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ยังมียุทธศาสตร์ในการพึ่งตนเองในระยะยาวด้วยการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ

รัฐบาลไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า กำหนดยุทธศาสตร์วัคซีนไม่เหมาะสม และพึ่งพิงแหล่งวัคซีนเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งทำให้ได้วัคซีนล่าช้า ไม่ทันกับการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วหลังเดือนเมษายน เป็นต้นมา

“เราไม่ได้สั่งจองวัคซีนไว้ล่วงหน้า เราได้รับความร่วมมือจากจีนคือ วัคซีนซิโนแวค การนำวัคซีนที่ได้รับความช่วยเหลือมาช่วย ในช่วงที่มีภาวะฉุกเฉิน ถือว่าเป็นเรื่องด่วน ต่อมาเมื่อมีการผลิตวัคซีนเพิ่มก็สามารถเลือกได้ เราได้มีการติดต่อกับกระทรวงต่างประเทศและได้รับวัคซีนจากการบริจาคและแลกเปลี่ยน” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

การสัมมนาเรื่องการทูตวัคซีนเป็นตอนที่ 2 จาก 5 ตอน ของการสัมมนาเรื่องการปรับยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณ ร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ เอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (Asia News Network)

นพ.โสภณ กล่าวว่า ถ้ามองในแง่ยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์และความร่วมมือในหลายประเทศ ที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในการผลิตวัคซีน เป็นการเพิ่มโอกาสในการรับวัคซีนเข้ามา ถ้าหากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีก็จะเกิดความยั่งยืนระยะยาว ไทยมีการเจรจาจัดหาวัคซีนโดยการมองหาวัคซีนที่มีความหลากหลาย และการเตรียมการเพื่อการผลิตวัคซีนในประเทศก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยดำเนินนโยบายการทูตวัคซีนในหลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกของกลุ่มอาเซียนซึ่งได้จัดตั้งกองทุน Asean Response Fund ซึ่งสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงขันจัดตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2563 และได้รับความช่วยเหลือจากมิตรประเทศที่เป็นคู่เจรจาของอาเซียนอีกหลายประเทศ

ในส่วนอาเซียนกับจีนมีการเตรียมการจัดตั้งศูนย์ผลิตวัคซีนและแจกจ่ายให้อาเซียน รวมไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดด้วย เราได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาวัคซีนกับหลายๆ ประเทศ นอกจากวัคซีนแล้วก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย

นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองหัวหน้าศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่ง ในการดำเนินโยบายทางการทูตเพื่อการสาธารณสุข รางวัลนี้มอบให้แพทย์ที่มีผลงานโดดเด่นทั่วโลกทุกปี

เราจะมีเครือข่ายของคนที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นการทูตแบบไม่เป็นทางการ (informal diplomacy) อย่างหนึ่ง เพื่อสอบถามข้อมูลวงในได้มากกว่า และถ้าประเทศไทยอยากสร้างอิทธิพล ตัวรางวัลอาจเป็นกุศโลบายที่ดีในการสร้างการทูตสาธารณสุขระดับโลก

นพ.บวรศมกล่าวว่า รางวัลเจ้าฟ้ามหิดล มีส่วนของการประชุมที่เป็นเวทีในเชิงนโยบาย ไม่ได้เป็นวิชาการล้วนๆ แต่มีการขับเคลื่อนทางด้านนโยบายอยู่ด้วย

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อพบปะกับวุฒิสมาชิกเชื้อสายไทย พ.ท.หญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนจากสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องแสวงหาทางเลือกที่หลากหลายในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ

โควิดเป็นสิ่งที่ท้าทาย และควรเอาจริงเอาจัง ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่อเราอยู่ในห้วงวิกฤติ โควิดเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและมีความหลากหลาย ต้องมีการทูตนำทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ

เธอกล่าวเสริมว่า ความร่วมมือในเรื่องของข้อมูลก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไทยเก็บข้อมูลน้อยมาก ไทยควรมีบทบาทในด้านนี้เพราะเคยมีการระบาดทั้งในระดับที่น้อย และระดับที่มาก เมื่อไทยมีข้อมูลแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ศักดิ์ศรีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเขาก็จะเท่าเทียมกัน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูตนั้นมี 2 ทาง คือสามารถเป็นได้ทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่ง นพ.โสภณและนายธานีเห็นพ้องกันว่า เมื่อไทยมีวัคซีนเพียงพอแล้ว ต่อไปจะอยู่ในฐานะที่เป็นผู้บริจาควัคซีนให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีวัคซีนไม่เพียงพอหรือให้กับชาวต่างชาติและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย

“ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงต่างประเทศ แต่เราเห็นตรงกันว่าวัคซีนเป็นสินค้าสาธารณะ สามารถสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนกับประเทศต่างๆ ได้ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเราจะชนะโควิด-19 เราต้องชนะไปด้วยกันร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน” นายธานีกล่าว

โรคโควิดเป็นการระบาดใหญ่ในระดับโลกซึ่ง นพ.บวรศมเสนอในการสัมมนาว่า ประเทศไทยควรวางยุทธศาสตร์การทูตสาธารณสุขระดับโลก (Global Health Diplomacy)

“ตอนนี้เราเรียนรู้ได้แน่นอนแล้วว่ามันไม่ใช่วิกฤตที่จัดการได้จากปัจจัยภายในประเทศเท่านั้น เราควรจะต้องสร้างฐานการทำงานของการทูตสาธารณสุขระดับโลกให้กว้างขวางมากขึ้น การทูตมันคงมีหลายแบบและเรายังต้องทำอยู่ แต่ไทยก็ยังมีโอกาสพัฒนาอีกหลายอย่าง เช่น การสร้างหุ้นส่วนทั้งในระหว่างภาครัฐหรือระหว่างภาคเอกชนที่จะร่วมมือกันพัฒนาด้านการสาธารณสุข” นพ.บวรศม กล่าว

เขากล่าวเสริมว่า ประเทศไทยควรจะช่วยเหลืออาเซียนในสิ่งที่เราทำได้ดีกว่า และรับความช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำได้ด้อยกว่าหรือไม่ ไทยไม่ใช่ประเทศที่คอยรับความช่วยเหลือตลอดไป แต่สามารถช่วยถ่ายทอดความรู้ความชำนาญด้านเทคนิคหรือทักษะต่างๆ

ข้อดีของโควิดคือ มีผลกระทบทุกเรื่อง ถ้าเราถอดบทเรียนและเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เราจะเห็นสิ่งที่จะช่วยกันพัฒนาได้อีกมาก ไม่ว่าภาคการเมือง ข้าราชการประจำ ฝ่ายวิชาการและภาคประชาสังคม

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทางการทูตอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากพื้นฐานการสาธารณสุขภายในประเทศไม่เข้มแข็งพอ ซึ่ง นพ.โสภณเห็นว่า ประเทศไทยก็ควรวางยุทธศาสตร์ในการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนของตัวเองด้วย

นพ.โสภณกล่าวว่า ไทยไม่ได้ผลิตวัคซีนโดยคนไทยมานานแล้ว แต่เมื่อปีกว่าที่ผ่านมา เรามีกลยุทธ์หลายแบบ ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ วิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แต่สิ่งที่น่าภูมิใจคือการที่เราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในโรงงานไทยได้สำเร็จ โดยมีศักยภาพการผลิตปีละเกือบ 200 ล้านโดส

“ปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลไทย ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในประเทศสูงมาก สถานการณ์การระบาดของโควิด ทำให้เห็นว่า ความมั่งคงด้านวัคซีนจะเกิดขึ้นได้เมื่อไทยเรามีศักยภาพ ถ้าเรารักษาแรงส่งหรือโมเมนตัมนี้ได้ในช่วงต่อจากนี้ไป หรือแม้แต่หลังสถานการณ์โควิด ถ้าเราพยายามที่จะส่งเสริมและสนับสนุนก็จะทำให้อุตสาหกรรมวัคซีนเติบโตได้” นพ.โสภณกล่าว

นพ.บวรศมเสริมว่า วัตถุประสงค์หลักในการผลิตวัคซีนที่เป็นของไทยเองน่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงด้านวัคซีน ไทยคิดเรื่องนี้ตั้งแต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำยังมีอะไรให้เติมเต็มอีกมากถึงจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราไม่ควรจะจำกัดแค่เรื่องวัคซีนโควิด แต่เทคโนโลยีที่นำมาใช้ผลิตยังสามารถประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายโรค เราอาจมองกลับกันว่า การรักษาพยาบาลแทนที่จะเป็นภาระงบประมาณของประเทศ กลับกลายเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกของประเทศได้ ทำให้เปลี่ยนวิธีคิดและจัดการนโยบายสาธารณสุขได้” นพ.บวรศมกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทบาทการทูตและการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง