ชาวบ้าน "สงขลา-ยะลา" จัดกิจกรรมคู่ขนานจะนะรักษ์ถิ่นต้านนิคมฯ

สิ่งแวดล้อม
10 ธ.ค. 64
20:05
409
Logo Thai PBS
ชาวบ้าน "สงขลา-ยะลา" จัดกิจกรรมคู่ขนานจะนะรักษ์ถิ่นต้านนิคมฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ชาวบ้านใน จ.ยะลาและสงขลา จัดกิจกรรมคู่ขนานส่งกำลังใจให้เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ขณะที่นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เห็นว่าการทำ SEA เป็นทางออก แต่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ทุกคนพร้อม

วันนี้ (10 ธ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต รวมตัวบริเวณชายหาดบ้านบ่อโชน อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อส่งกำลังใจให้ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่รวมตัวหน้าทำเนียบรัฐบาล ควบคู่กับการตอกย้ำข้อเรียกร้องคัดค้านโครงการอุตสาหกรรมเมืองจะนะ ซึ่งจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในสัปดาห์หน้า ด้วยรูปแบบออนไลน์

ชายหาดบ่อโชน เป็นแหล่งทำมาหากินของเรือประมงพื้นบ้าน ซึ่งหมายถึงอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของชาวบ้าน เพราะประมงขนาดเล็กถือเป็นอาชีพหลัก และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในที่เดียวกัน จึงเป็นเหตุผลที่ชาวบ้านต่างคัดค้านการขับเคลื่อนโครงการที่พวกเขาระบุว่าไม่มีส่วนร่วมมาก่อน

ขณะที่ จ.ยะลา เครือข่ายนักศึกษาและภาคประชาสังคมกว่า 100 คน รวมตัวหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการฯ โดยตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่ของ ศอ.บต.ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในระดับพื้นที่ และขอให้ยุติโครงการนี้ตามข้อเรียกร้องของประชาชน

ข้อเสนอให้ศึกษาผลกระทบระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ถูกหยิบยกขึ้นมาจากชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งนักวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จากหลายสาขา ที่มองว่า SEA เป็นทางออก แต่บรรยากาศการทำ SEA ต้องเกิดจากความพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

ขณะที่ ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ ชี้แจงผ่านแถลงการณ์ระบุที่มาของโครงการฯ ว่า เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กรอ. เมื่อปี 2559 และระบุว่าการดำเนินการของ ศอ.บต.เป็นไปตามขั้นตอนที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว

สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีพื้นที่กว่า 16,000 ไร่ ครอบคลุม ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม โครงการประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าขนาด 3,000 เมกะวัตต์ และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งหนักและเบา

ส่วนความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ มีทั้งผู้ที่ไม่เห็นด้วยเพราะกังวลเรื่องผลกระทบ ส่วนผู้ที่เห็นด้วยเชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมจะสร้างรายได้และอาชีพให้พวกเขา นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไข เนื่องจากต้องการร่วมขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1,000 เมกะวัตต์ แต่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ จึงขอให้ชะลอการรับฟังความคิดเห็นไว้ก่อน

อ่านข่าวอื่นๆ

"จะนะรักษ์ถิ่น" ปักหลักวันที่ 5 ย้ำจุดยืนหยุดสร้างนิคมฯ

ตัวแทนรัฐบาลลงพื้นที่พูดคุยกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง