วิกฤตเมียนมาท้าทายอาเซียน แนะไทยเป็นผู้นำช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

ต่างประเทศ
13 ธ.ค. 64
11:52
2,138
Logo Thai PBS
วิกฤตเมียนมาท้าทายอาเซียน แนะไทยเป็นผู้นำช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วิกฤตการณ์ในเมียนมากระทบผลประโยชน์ และความมั่นคงของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้ภาครัฐกระตือรือร้นมากขึ้นในการแสดงบทบาทนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านมนุษยธรรม ติดต่อสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายรวมทั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและสภาบริหารแห่งร

นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวในการสัมมนาออนไลน์หัวข้อ “การทูตไทย อาเซียนและการแก้ไขปัญหาประเทศเมียนมาร์” เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2564 ว่า กลุ่มอาเซียนยังไม่มีทิศทางและเอกภาพที่ชัดเจนในการรับมือกับวิกฤตการณ์ในเมียนมาร์ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนหลักการ กฎบัตร และปรับปรุงองค์กรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ

“ตอนนี้อาเซียนได้ผูกมัดตนเองในเรื่องประชาธิปไตย เรื่องการเอาคนเป็นที่ตั้ง ด้วยกฎบัตรของอาเซียนเอง นอกเหนือจากพันธะต่อสหประชาชาติและประชาชน จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า อาเซียนก็หาความเป็นอันหนึ่งเดียวกันไมได้ ว่าจะทำอย่างไร อาเซียนไม่ได้มีการตกลงกันในสภาพการณ์ของประชาธิปไตย” อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว

การสัมมนาดังกล่าวเป็นตอนที่ 3 จากทั้งหมด 5 ตอนที่จัดโดยมูลนิธิสุรินทร์ พิศสุวรรณร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ไทยพีบีเอส (Thai PBS) และ เอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (Asia News Network)

นายกวี จงกิจถาวร อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมียนมาไทม์ กล่าวว่า ความจริงแล้วทั้งกลุ่มอาเซียนและไทยต่างก็มีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองพม่าที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เพียงแต่อาเซียนดำเนินการด้วยความเชื่องช้า ในขณะที่ไทยก็ดำเนินการภายใต้ขีดจำกัดมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความใกล้ชิดติดกันทำให้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

“ข้อจำกัดของไทยมีมากและข้อจำกัดนี้ก็เป็นพลังอย่างหนึ่งเหมือนกับอาเซียน ถ้าอาเซียนเด็ดขาด ศัตรูเราจะเต็มไปหมด การตัดสินใจของอาเซียนไม่ทันใจคน แต่สิ่งหนึ่งที่ดีสำหรับอาเซียนคือ เวลามีฉันทามติแล้วเปลี่ยนไม่ได้ จะต้องทำตาม ฉะนั้นที่เมียนมาต้องทำต่อไปคือ จะต้องทำฉันทามติทั้ง 5 ข้อ เรื่องที่อาเซียนจะต้องจัดการกับวิกฤตในเมียนมามันยุ่งยากเพราะมันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง และในกรณีของไทยมันจะเป็นกรณีเดียวกัน ไทยจึงอยู่ในสถานการณ์ที่พูดไม่ได้” นายกวีกล่าว

นายกวีซึ่งเป็นสื่อมวลชนอาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการทูตและกลุ่มอาเซียนแสดงความคาดหวังว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งจะรับหน้าที่ประธานอาเซียนในปี 2565 จะสามารถผลักดันความก้าวหน้าให้กับการแก้ไขปัญหาเมียนมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผมคิดว่ากัมพูชาจะมีบทบาทสูงมาก จะเป็นครั้งสุดท้ายของฮุนเซน เขาต้องการที่จะทิ้งตำนานในเรื่องของการสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย อีกประเด็นหนึ่งคือ กัมพูชามีบทบาทสูงมากในปีนี้ นอกจากเป็นประธานของเอเชียยุโรป ปีหน้าก็จะเป็นประธานอาเซียน ผมคาดหวังจากฮุนเซนมากว่าจะเป็นคนสร้างการพูดคุย

ผู้ร่วมอภิปรายทั้งหมดเห็นว่า ประเทศไทยสามารถแสดงบทบาทนำในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาได้

นายกวีกล่าวว่า เขาคิดว่าการช่วยเหลือโดยเฉพาะประเด็นมนุษยธรรมจะเห็นชัดมากขึ้นโดยผ่านองค์การสภากาชาดไทย นโยบายของไทยต่อเมียนมามีอิทธิพลอย่างมาก เพราะประเด็นปัญหาเมียนมาร์ในไทยหนักพอๆ กันกับปัญหาเมียนมาในประเทศเมียนมาเอง มีทั้งปัญหาแรงงาน ปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาชายแดน

ประเทศไทยต้องคิดให้มาก ถ้าคนเมียนมาในไทยมีความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อไทยก็จะอันตรายมาก ฉะนั้นไทยต้องเดินเส้นทางที่คับแคบมาก เราจะสนับสนุนรัฐบาลทหาร 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ ไม่สนับสนุนบางเรื่องก็ไม่ได้

นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยอิสระ เสนอให้ประเทศไทยประยุกต์ใช้นโยบายเกี่ยวพันที่ซับซ้อน (Complex Engagement) ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเมียนมากล่าวคือจะต้องติดต่อเกี่ยวพันกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในทุกระดับและทุกประเด็น ดำเนินการด้วยวิธีการสันติ ไม่ใช้กำลังหรือขู่ว่าจะใช้กำลังทางทหาร และประการสำคัญต้องบรรจุคุณค่าของความเป็นเสรีนิยมและประชาธิปไตยลงไปในนโยบายดังกล่าวด้วย

ไทยเป็นประเทศเสรี เรามีการเมืองเสรี มีเศรษฐกิจเสรี และเราประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนของเรา ฉะนั้นคุณค่า (Value) อันนี้ต้องถูกบรรจุอยู่ในนโยบายต่างประเทศไทยต่อพม่า

เขากล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาทางการของไทยยังไม่สามารถกำหนดทิศทางและท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิกฤตการณ์เมียนมา เพราะยังมองผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนแบบคับแคบเกินไป และยังไม่สามารถประสานนโยบายกับฝ่ายต่างๆ ได้อย่างเป็นเอกภาพ

ประเทศไทยมีผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศเยอะ เรามีสิ่งที่เรียกว่า ระเบียงนโยบาย ซึ่งประกอบไปด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีกองทัพ และมีกระทรวงต่างประเทศ 3 หน่วยนี้จะต้องมีนโยบายร่วมกัน

นายสุภลักษณ์กล่าาวต่อว่า เหตุผลสำคัญที่ภาคประชาสังคมหรือองค์กรเอกชนต่างประเทศเข้าไปให้ความช่วยด้านมนุษยธรรมต่อประชาชนชาวเมียนมาร์ที่อพยพหนีภัยความขัดแย้งมาอยู่ตามแนวชายแดนไทยเป็นไปอย่างยากลำบากก็เพราะกองทัพไทยมีความคิดในเรื่องของความมั่นคงที่แคบ ไม่ยอมให้ฝ่ายอื่นเข้าไปมีส่วนร่วม

น.ส.ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า เป็นบรรทัดฐานที่ดี ที่กลุ่มอาเซียนไม่ยอมรับ ให้ผู้แทนสภาบริหารแห่งรัฐในระดับการเมืองเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน แต่ประชาชนชาวพม่าที่ต่อต้านการรัฐประหาร และได้จัดตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนขึ้นเพื่อต่อสู้ ต้องการที่จะเห็นนานาชาติ ให้การยอมรับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมีผู้แทนส่วนหนึ่งผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 เป็นผู้แทนที่ชอบธรรมของพวกเขาในเวทีสากล

ในส่วนของความคิดทางการเมืองของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ได้เสนอแนวคิดประชาธิปไตยสหพันธรัฐ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ อยากให้มาดูแนวความคิดตรงนี้ในฐานะทางออกของเมียนมาร์ได้

นอกเหนือไปจากปัญหาประชาธิปไตยแล้ว นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอว่า “อยากให้มองถึงระดับการทูตสาธารณะ ในประเด็นการอพยพย้ายถิ่นฐานของคน อยากให้เปลี่ยนจากข้อกังวลของประเทศเป็นโอกาส กลุ่มคนเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับไทย ดิฉันคิดว่าทั้งในระดับรัฐบาล เราสามารถจะทำการทูตสาธารณะอะไรต่อกลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะเป็นในเรื่องการศึกษา”

“ในเรื่องของผู้ลี้ภัยก็มีการลักปิดลักเปิดอยู่เรื่อย ประเทศไทยอนุญาตให้อยู่แค่ชายแดนไม่ได้ให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยขนาดนั้น อยากให้เปิดพื้นที่ให้องค์กรระหว่างประเทศเข้าไปทำตรงนี้ ประเทศไทยควรดูการช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรมและเชิงรุกมากขึ้น” น.ส.ศิรดากล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้การทูตควรนำทางแก้โควิด-19 แนะไทยจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย

บทบาทการทูตและการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง