หาคำตอบ สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงไกลชุมชน ?

เศรษฐกิจ
16 ธ.ค. 64
06:09
6,944
Logo Thai PBS
หาคำตอบ สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงไกลชุมชน ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สื่อสังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงการตั้งสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ห่างไกลชุมชน ผู้โดยสารบางส่วนต้องนั่งรถหลายต่อก่อนจะใช้บริการได้ ด้านนักวิชาการ แนะสร้างทางเชื่อมต่อชุมชนกับสถานี และพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีให้ดีขึ้น

ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน​ระยะทางกว่า​ 10 กิโลเมตร​ คือกิจวัตรประจำวันที่ "กฤติญา​ อุตยานะ" อายุ​ 26​ ปี​ พนักงานบริษัท​คนหนึ่ง​ ก้าวออกจากบ้านเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ตั้งแต่สถานีต้นทางรังสิต​ ไปจนถึงสถานีกลางบางซื่อ​ ก่อนจะต่อ​ MRT​ สายสีน้ำเงิน​ เพื่อมุ่งหน้าไปทำงานในย่านพระราม​ 9 มานานเกือบ 4 เดือน


การหลีกเลี่ยงจราจรที่ติดขัดในช่วงเร่งด่วน​ และไม่ต้องรอรถเต็ม​ คือเหตุผลหลักที่ทำให้เธอตัดสินใจใช้เงินซื้อเวลา​ทั้งขาไปและกลับ​ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในแต่ละวันอยู่ที่​ประมาณ​ 150​ บาท หรือเดือนละ​ 3,300 บาท


ไม่ต่างจาก "ธนาวัฒน์​ อินทร์อารีย์​" นักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์​ ต้องขึ้นรถสองแถวจากหน้าหมู่บ้านปิ่นทองย่านรังสิต​ ในราคา​ 7​ บาท แล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง​ 20 บาท​ ระยะทางรวมกว่า 3 กิโลเมตร เพื่อมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีดอนเมือง ก่อนจะไปลงที่สถานีบางเขนแล้วต่อมอเตอร์ไซค์รับจ้าง​เข้ามหาวิทยาลัยอีก 15 บาท​

 


ปัญหาเหล่านี้สอดคล้องกับกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ตั้งข้อสังเกตว่าสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงชานเมืองไม่เชื่อมต่อกับชุมชน แต่ผู้โดยสารบางส่วนอย่างชมพูนุช​ อุดมพงศ์​ ผู้โดยสารที่อาศัยชุมชนวัดดอนเมือง​ มองว่า​ รถไฟฟ้าสายสีแดงค่อนข้างสะดวกสบาย สำหรับคนที่ต้องการเดินทางไปสถานีกลางบางซื่อ​ แม้จะต้องนั่งจักรยานยนต์รับจ้างออกมาประมาณ​ 2​ กิโลเมตร​ ในราคา​ 30​ บาท​ แต่ยังถูกกว่าค่ารถแท็กซี่จากดอนเมืองไปบางซื่อ


ในประเด็นนี้ ดร.สุเมธ องกิตติกุล​ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์​ TDRI ให้ความเห็นว่า​​ การสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงในครั้งนี้เป็นการสร้างตามแนวรถไฟเก่า​ แต่ระบบรางในอดีตไม่ได้รับความนิยม​ ทำให้ไม่มีชุมชนมาอยู่ใกล้​ แต่การสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงจะช่วยให้ชุมชนขยายมาอยู่ใกล้รถไฟฟ้ามากขึ้นหากมีคนใช้บริการมาก

เราคงไปลากแนวทางรถไฟใหม่ให้ไปผ่านชุมชนได้ยากจริง ๆ​ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็คือต้องพยายามสร้างทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนกับสถานีรถไฟที่กำลังตั้งใหม่​ และพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีให้ดีขึ้น​

รถไฟฟ้าสายสีแดงตอบโจทย์หมอชิต 2 ?

ขณะเดียวกัน สื่อสังคมออนไลน์ยังตั้งข้อสังเกตว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงชานเมืองสถานีจตุจักรนั้น ไม่เอื้อต่อการเดินทางของคนต่างจังหวัดที่มาลงที่หมอชิต​ 2 ไทยพีบีเอสออนไลน์ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต​ 2​ พบว่า​ แม้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดจะบางตา​ แต่วินจักรยานยนต์รับจ้าง​หมอชิตใหม่​ ศาลพระพรหม​ ระบุว่า​ มีผู้โดยสารให้ไปส่งที่รถไฟฟ้าสายสีแดงสถานีจตุจักรอยู่บ่อยครั้ง เพราะราคาถูกกว่านั่งแท็กซี่มาก


สวนทางกับหัวหน้าวินจักรยานยนต์รับจ้างหน้าหมอชิตใหม่ขาเข้า​ที่ยอมรับว่า​ แทบจะไม่มีผู้โดยสารให้ไปส่งที่สถานีจตุจักร​ เพราะผู้โดยสารสามารถลงรถทัวร์ฝั่งรังสิตได้ระหว่างทาง​ โดยไม่ต้องเข้ามาที่หมอชิต​ 2​ แล้วย้อนกลับไปอีก ดังนั้น ผู้โดยสารจากหมอชิต 2 ส่วนใหญ่ยังคงให้ไปส่งที่ BTS หมอชิตเพื่อเดินทางเข้าเมืองเท่านั้น


ทั้งนี้ ไทยพีบีเอสออนไลน์ ทดลองเดินทางออกจากหมอชิต​ 2​ ไปยังสถานีจตุจักรด้วยรถแท็กซี่​ ระยะทางห่างกันประมาณ​ 1.5​ กิโลเมตร​ พบว่า ค่าโดยสารอยู่ที่​ 39​ บาท​ ส่วนจักรยานยนต์รับจ้างราคา​ 40-60​ บาท​ ทั้งยังมีรถโดยสารสาธารณะขับผ่าน​ 3 สาย​ ให้เลือกใช้บริการได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง