"โอมิครอน" ผสม "เดลตา" น่ากังวลแค่ไหน?

ต่างประเทศ
15 ธ.ค. 64
19:38
562
Logo Thai PBS
"โอมิครอน" ผสม "เดลตา" น่ากังวลแค่ไหน?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การติดเชื้อโควิด 2 สายพันธุ์พร้อมกันเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมจนเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ กำลังเป็นข้อถกเถียง แม้การเกิดเชื้อลูกผสมจะเป็นไปได้ แต่เชื้อจะรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ

วันนี้ (15 ธ.ค.2564) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า พอล เบอร์ตัน ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์โมเดอร์นา ระบุว่า การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตา" และสายพันธุ์ "โอมิครอน" พร้อมกัน อาจทำให้เชื้อไวรัสแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม จนเกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่สุดอันตรายขึ้นมาในท้ายที่สุด

การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์พร้อมกันไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากผู้ติดเชื้อลักษณะนี้พบได้บ่อยในหลายประเทศ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หญิงเบลเยียมวัย 90 ปี ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เบตาในช่วงเวลาเดียวกัน

กรณีนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในที่ประชุมวิชาการด้านจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อแห่งยุโรป เนื่องจากคณะแพทย์เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีแรกที่มีการบันทึกรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ม.ค. นักวิทยาศาสตร์บราซิลตรวจพบผู้ป่วย 2 คน ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน งานวิจัยฉบับนี้ยังอยู่ในคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ MedRxiv และยังไม่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ

โอกาสติดเชื้อ 2 สายพันธุ์และแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรม

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ สวทช. อธิบายถึงความเป็นไปได้ของการเกิดเชื้อลูกผสม 2 สายพันธุ์ ว่า การเกิดไวรัส 2 ตัวในเซลล์เดียวกัน เกิดขึ้นได้จริง แต่ไม่ง่าย เพราะร่างกายจะมีการตอบสนองต่อการติดเชื้อของเชื้อไวรัสค่อนข้างรวดเร็ว และจะมีการสร้างดปรตีนต่างๆ มาต่อต้านไวรัสไม่ให้มีการเพิ่มจำนวน

เพราะฉะนั้น ตัวที่ 2 ที่จะตามเข้ามา ถ้าไปเจอสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาแล้ว ก็จะเข้าไปไม่ได้ โอกาสที่จะเจอไวรัสตัวที่ดุเหมือนที่กลัวกัน จากข้อมูลทั้งหมดที่ประมวลมา มีโอกาสน้อยมาก

ข้อมูลจากศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ระบุว่า สายพันธุ์โอมิครอนสามารถดึงสารพันธุกรรมบางส่วนของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์ เข้ามาผนวกในสายจีโนมได้ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเฝ้าระวังการแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมระหว่างสายพันธุ์โอมิครอนกับสายพันธุ์เดลตา

ประสิทธิภาพวัคซีนรับมือเชื้อสายพันธุ์ใหม่

ประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือกับสายพันธุ์ใหม่ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. - 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลการศึกษาจากการใช้งานจริงในแอฟริกาใต้ แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ลดลงจริง ประสิทธิภาพป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงจากร้อยละ 93 เหลือร้อยละ 70

ส่วน Discovery Health จัดการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในแอฟริกาใต้เช่นกัน ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อลดลงจากร้อยละ 80 เหลือเพียงร้อยละ 33

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้นกันให้ประชาชน จึงถือเป้นเครื่องมือสำคัญที่มีบทบาทในการควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เตือนว่า ทั่วโลกอย่าประเมินอันตรายของสายพันธุ์โอมิครอนต่ำเกินไป


ที่มา : DailyMail, BBC, Reuters, ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี

อ่านข่าวอื่นๆ

ไทยพบโควิด "โอมิครอน" ยืนยันเพิ่มเป็น 9 จากเคสเข้าข่าย 14 คน

"อังกฤษ" ขีดเส้นตายฉีดวัคซีนเข็ม 3 กู้วิกฤตโอมิครอนในประเทศ

ไฟเซอร์เผย "ยาแพกซ์โลวิด" ป้องกันโอมิครอนได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง