โพลชี้ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต้องสังกัดพรรค - "จราจร" ปัญหาแรกที่อยากให้แก้

การเมือง
18 ธ.ค. 64
20:34
1,092
Logo Thai PBS
โพลชี้ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต้องสังกัดพรรค - "จราจร" ปัญหาแรกที่อยากให้แก้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โพลชี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต้องสังกัดพรรค กลุ่มตัวอย่างระบุไม่ชอบพรรคการเมืองไหนเลย รองลงมาเป็นเพื่อไทย ส่วนปัญหาแรกที่อยากให้แก้ไขคือ การจราจร และยังต้องการให้ทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ผศ. ดร.ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์ แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร หัวข้อ "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร" สำรวจวันที่ 1-10 ธ.ค.2564 ด้วยแบบสอบถามออนไลน์จากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป รวม 1,642 ตัวอย่าง

ผลการสำรวจ 1.ด้านคุณลักษณะของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีเห็นว่าควรมีความรู้ความสามารถ มากที่สุด (ร้อยละ 31.1) รองลงมาคือ ภาวะผู้นำ และซื่อสัตย์สุจริต (ร้อยละ 15.6) เป็นนักประสานผลประโยชน์ระดับชาติและพื้นที่ (ร้อยละ 11.1), มีคุณธรรม จริยธรรม และอื่นๆ (ร้อยละ 8.9) และมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และยึดมั่นในกฎระเบียบ (ร้อยละ 4.4)

2.ด้านการสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง (ร้อยละ 84.1) และผู้สมัครรับเลือกตั้งจำเป็นต้องสังกัดพรรค (ร้อยละ 15.9)

3.ด้านความชื่นชอบพรรคการเมือง พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่ชื่นชอบพรรคการเมือง (ร้อยละ 62.2) รองลงมาคือ พรรคเพื่อไทย (ร้อยละ 11.1) พรรคก้าวไกล (ร้อยละ 8.9) พรรคอื่นๆ (ร้อยละ 6.72) พรรคประชาธิปัตย์ (ร้อยละ 6.7) และสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐ และพรรคกล้า (ร้อยละ 2.2)

4.ด้านความคาดหวังต่อนโยบายของกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคาดหวังต่อนโยบายการแก้ปัญหาจราจร (ร้อยละ 26.7) รองลงมาคือ การเปิดกรุงเทพมหานครให้ใช้ชีวิตปกติ (ร้อยละ 20.0) แก้ปัญหาน้ำท่วม (ร้อยละ 15.6) แก้ปัญหาอื่นๆ (ร้อยละ 13.3) และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 (ร้อยละ 13.3)

กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ต้องการฉีดวัคซีน Pfizer มากที่สุด (ร้อยละ 35.7) รองลงมาคือ Moderna (ร้อยละ 21.4) Johnson & Johnson (ร้อยละ 21.4) AstraZeneca (ร้อยละ 14.3) และสุดท้ายคือ Sinovac Sinopharm และ Sputnik ตามลำดับ

5.เมื่อถามว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากอาชีพใด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 ระบุว่า มาจากอาชีพอื่นๆ มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 11.1 ระบุว่า นักการเมือง สุดท้ายคือ อาจารย์ และทหาร (ร้อยละ 4.4)

6.แนวโน้มเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ตามพรรคหรือกลุ่มที่สังกัดของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างไม่แน่ใจ (ร้อยละ 51.1) รองลงมาระบุว่า เลือก (ร้อยละ 28.9) และไม่เลือก ร้อยละ 20.0

7.เมื่อถามถึงสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 51.1 เห็นว่าควรอิสระ รองลงมา ร้อยละ 35.5 ระบุว่า อื่นๆ ระบุว่า พรรคก้าวไกล (ร้อยละ 6.7) และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ เป็นต้น

8.เมื่อถามว่า อยากให้ทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.7 ระบุว่า อยากให้ทุกจังหวัดเลือกตั้ง รองลงระบุว่า ไม่แน่ใจ (ร้อยละ 18.2) และไม่มีการเลือกตั้ง (ร้อยละ 9.1)

สรุปผลวิเคราะห์

1.ด้านคุณลักษณะของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทั้งมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านกรุงเทพมหานคร (ร้อยละ 50.0) และมีภูมิลำเนาจังหวัดอื่นๆ (ร้อยละ 50.0) ต่างเห็นว่า ความเก่งและความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภายในกรุงเทพมหานคร เป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

2.ด้านการสังกัดพรรคการเมืองของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พบว่า บริบทการเมืองปัจจุบันประชาชนในกรุงเทพมหานครต่างตระหนักว่า คุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีความสำคัญมากกว่าบทบาทการสนับสนุนของพรรคการเมือง สำหรับการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

อาจเป็นเพราะกรุงเทพมหานคร เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ การสังกัดพรรคการเมืองของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจไม่ใช่สิ่งที่มีความจำเป็นมากนัก ซึ่งอาจอนุมานได้ เช่นเดียวกับการดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ของหลายจังหวัดที่ผู้ได้รับการเลือกตั้ง เป็นผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง

3.ด้านความชื่นชอบพรรคการเมือง พบว่า ความตระหนักถึงความสำคัญของพรรคการเมืองในทัศนะของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะเกิดขึ้น ยังคงให้ความสำคัญกับคุณสมบัติส่วนบุคคลของบุคคลดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีระดับค่าร้อยละ 60 เศษ

ในทัศนะของประชาชนเห็นว่า หากมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นคู่แข่งสำคัญในสนามการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพบข้อสังเกตว่า ในช่วงการเก็บผลสำรวจ พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ได้เปิดตัว ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

4.ด้านความคาดหวังต่อนโยบายของกรุงเทพมหานคร พบว่า สภาพปัญหาที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครรู้สึกอึดอัด และต้องการการแก้ไขปัญหามากที่สุด ยังคงเป็นเรื่องของปัญหาการจราจร และการใช้ชีวิตปกติภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 โดยมีปัญหาเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วม และการฉีดวัคซีนเป็นปัญหาที่มีความสำคัญตามมา

พบว่า วัคซีนที่ทางกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรจากทางรัฐบาล ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง ดังเห็นได้ว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความต้องการ Pfizer, Moderna และ Johnson & Johnson รวมเกินกว่าร้อยละ 70

5.ส่วนเมื่อถามว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องมาจากอาชีพใด พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภูมิหลังในการประกอบอาชีพของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมากนัก ซึ่งเป็นผลเกิดจากความต้องการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และเข้าใจปัญหาในรูปแบบ การแก้ไขแบบสหวิถี (Multi-Application Solution) ที่ต้องบูรณาการทั้งองค์ความรู้ เทคนิค และวิธีการ ที่สอดคล้องกับสภาพหรือบริบทปัญหาที่แตกต่างกัน

บนพื้นฐานความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ประสบการณ์การทำงานที่เชี่ยวชาญเพียงด้านใดด้านหนึ่งจึงอาจไม่เพียงพอในการตอบโจทย์ของปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนในมหานครของกรุงเทพมหานคร

6.ด้านแนวโน้มเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานครตามพรรคหรือกลุ่ม ที่สังกัดของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า ประชาชนอาจมีทัศนะในการสร้างการถ่วงดุลการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากในระดับเขตไม่ปรากฏ ให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับเขตหรือสมาชิกสภาเขต หรือ สข.

บทบาทของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ สก. จึงมีความสำคัญใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ประกอบกับอิทธิพลของกระแสผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองยังปรากฏให้เห็นผ่านทัศนะของการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้

อีกทั้งตลอดระยเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา ประชาชนจำนวนมากยังอาจเคยชินกับระบบการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรุงเทพมหานคร จึงมองเห็นว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จากพรรคหรือกลุ่มที่สังกัด ไม่มีความจำเป็นมากนัก ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า พรรคหรือกลุ่มที่สังกัดของผู้สมัครรับเลือกตั้ง อาจมีอิทธิพลไม่มากพอต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ เท่ากับการเป็นผู้สมัครอิสระที่หาคะแนนเสียงมานาน หรือมีฐานคะแนนเสียงที่เข้มแข็งของตนเอง

7.ด้านสมาชิกสภากรุงเทพมหานครควรสังกัดพรรคการเมือง พบว่า เมื่อสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในเชิงลึกย่อมช่วยยืนยันให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ไม่มีความจำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ควรเป็นผู้สมัครอิสระมากกว่า หากมีความจำเป็นต้องเลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ ต่างมีความนิยมที่ใกล้เคียงกัน

8.อยากให้ทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งในการสำรวจครั้งนี้ มีทั้งผู้ที่มีสิทธิและไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กว่าร้อยละ 70 ต่างเห็นว่า ทุกจังหวัดมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า ประชาชนต้องการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ในฐานะผู้ที่มีอิทธิพลในการกำหนดผู้บริหารจังหวัดด้วยตนเอง

หรือกล่าวได้ว่า คุณลักษณะพิเศษขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นต้นแบบที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการกระจายอำนาจที่อาจปรับ การบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง