ผลศึกษาออกซ์ฟอร์ดชี้ "แอสตราฯ" เข็ม 3 กระตุ้นภูมิต้านโอมิครอน

ต่างประเทศ
23 ธ.ค. 64
18:48
3,834
Logo Thai PBS
ผลศึกษาออกซ์ฟอร์ดชี้ "แอสตราฯ" เข็ม 3 กระตุ้นภูมิต้านโอมิครอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"แอสตราเซเนกา" เปิดเผยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ระบุว่าการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราฯ เป็นเข็มกระตุ้น จะช่วยเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้

วันนี้ (23 ธ.ค.2564) แอสตราเซเนกา เปิดเผยข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มระดับแอนติบอดีต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน โดยพบว่าระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นหลังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น มีระดับสูงกว่าที่พบในผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยได้เองจากโรคโควิด-19 ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์กลายพันธุ์ ได้แก่ อัลฟา เบตา และเดลตา

เซรั่มที่นำมาทดสอบ มาจากผู้ที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 มาแล้ว 1 เดือน พบว่า ระดับแอนติบอดีชนิดลบล้างหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ได้ผลในระดับเดียวกันกับหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของผู้ติดเชื้อโควิด-19, ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสและได้รับเข็มกระตุ้นแล้ว รวมถึงผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่น่ากังวลอื่นๆ โดยใช้ตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาครบ 3 เข็มเป็นจำนวน 41 คน

ศาสตราจารย์ จอห์น เบลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้วิจัย กล่าวว่า การค้นพบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ในปัจจุบัน สามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ ถือเป็นข่าวดี ซึ่งผลการศึกษานี้สามารถช่วยสนับสนุนแนวทางของประเทศต่างๆ ในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้แก่ประชาชน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่างๆ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน

ขณะที่ข้อมูลจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการอีกการศึกษาหนึ่ง บ่งชี้ว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 โดส สามารถคงระดับการลบล้างเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้ แม้ว่าจะมีระดับฤทธิ์ลบล้างที่ลดลงกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า วัคซีนของแอสตราเซเนกาเพิ่มการตอบสนองของเม็ดเลือดขาว ชนิดทีเซลล์ ที่หลากหลายและยาวนานต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อเชื้อไวรัสที่ครอบคลุมมากกว่าแค่แอนดิบอตีเพียงอย่างเดียว

เมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยและพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ ของแอสตราเซเนกา กล่าวว่า ข้อมูลจากการศึกษาครั้งล่าสุดสร้างความเชื่อมั่นต่อการ ใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกา เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 พร้อมเชื่อว่าการตอบสนองของเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ จะช่วยป้องกันการติดเชื้อรุนแรงและป้องกันอาการเจ็บป่วยในระดับที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ในระยะยาว

 

อ่านข่าวอื่นๆ

นักวิทย์ฯ เผยผลวิจัย "โอมิครอน" ลดโอกาสเข้า รพ.น้อยกว่าเดลตา

อิสราเอลเตรียมฉีดวัคซีนเข็ม 4 ให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป

สหรัฐฯ อนุมัติยาต้านไวรัสโควิด-19 ตัวแรก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง