ครบรอบ 17 ปี สึนามิ นักวิจัยห่วงคนพื้นที่ไม่ตื่นตัว-หวั่นอพยพไม่ทัน

ภูมิภาค
26 ธ.ค. 64
11:09
1,002
Logo Thai PBS
ครบรอบ 17 ปี สึนามิ นักวิจัยห่วงคนพื้นที่ไม่ตื่นตัว-หวั่นอพยพไม่ทัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ครบรอบ 17 ปีเหตุการณ์สึนามิ นักวิจัยยังห่วงการรับมือภัยพิบัติ ประชาชนขาดความตื่นตัว-อพยพไม่ทัน เล็งจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณชายฝั่งอันดามันเพิ่ม พร้อมศึกษารอยเลื่อนมีพลังและลักษณะแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน

วันนี้ (26 ธ.ค.2564) เนื่องในโอกาสครบรอบ 17 ปี ของการเกิดสึนามิครั้งใหญ่ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2547 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสึนามิอีกครั้งในช่วงชีวิตของคนเรา เพราะแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลอันดามันบางส่วนมีการสะสมพลังงานมาหลายร้อยปี และยังไม่ได้ปลดปล่อยพลังงานออกมาเป็นแผ่นดินไหวและสึนามิ

ยังจำเป็นต้องมีระบบเตือนภัยสึนามิที่เชื่อถือได้ และต้องเตรียมพร้อมที่จะอพยพหนีภัยในพื้นที่เสี่ยงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

ปัญหาขณะนี้ คือ ผู้คนขาดความสนใจและตื่นตัว ป้ายเตือนภัยและป้ายชี้เส้นทางอพยพในหลายพื้นที่เสื่อมสภาพ จำนวนอาคารบ้านเรือนและโรงแรมในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้น ในบางพื้นที่เพิ่มถึง 2-3 ตัวเท่าตัว 

อีกทั้งหากจำเป็นต้องอพยพจริงก็ยังไม่แน่ใจว่าจะอพยพได้อย่างรวดเร็วทันเวลาหรือไม่ เพราะผู้คนยังมีความคิดหลากหลาย มีวิธีการอพยพแตกต่างกัน บางคนอาจพร้อมอพยพทันที แต่บางคนอาจจะรีบบกลับบ้านก่อนเพื่อไปหาครอบครัวหรือนำของสำคัญออกมา พ่อแม่อาจจะไปหาลูกที่โรงเรียนก่อน หรืออาจรออพยพพร้อมกับคนที่ตนเองรักดังนั้นกระบวนการอพยพจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ อาจจะมีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากเพราะอพยพไม่ทัน

เล็งทำแผนที่เสี่ยงภัยเพิ่ม

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวว่าเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ทำให้ได้รับบทเรียนว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่สร้างความเสียหายอย่างมาก คือ การขาดการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือเหตุการณ์ในอนาคต ความเสี่ยงภัยและกระบวนการอพยพเป็นสิ่งที่ต้องหมั่นทบทวน ที่ผ่านมาพื้นที่ตามแนวชายฝั่งอันดามันได้ฟื้นฟูและเกิดความเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นที่เสี่ยง

ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์

ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์

ผศ.ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์

 

โครงการวิจัยได้ประเมินความเสี่ยงภัยสึนามิจากแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวบริเวณทางตอนเหนือของแนวมุดตัวซุนดาตั้งแต่หมู่เกาะอันดามันไปจนถึงบริเวณอาระกันเลียบชายฝั่งประเทศเมียนมา รวมถึงการทบทวนกระบวนการอพยพในพื้นที่เขาหลักโดยใช้เทคโนโลยีแบบจำลองคอมพิวเตอร์ Multi-Agent Simulation ซึ่งตรรกะความคิดแต่ละคนขณะหนีภัยและการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบข้างจะแตกต่างกันไป ทำให้เกิดการค้นพบมาตรการสนับสนุนการอพยพที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่นั้น ๆ

โครงการวิจัยต่อไปจะศึกษาความเสี่ยงภัยสึนามิที่เป็นไปได้ (PTHA) รวมถึงการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติมในหลายพื้นที่บริเวณชายฝั่งอันดามัน เพื่อสื่อสารไปยังประชาชนที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ให้เกิดความตระหนักไม่ใช่ตระหนก

 

ส่วนแบบจำลองการอพยพจะใช้พื้นที่ป่าตอง ซึ่งมีสภาพแตกต่างจากพื้นที่เขาหลักมาศึกษามาตรการอพยพที่เหมาะสมเพิ่มเติม รวมถึงเส้นทางอพยพไปยังจุดปลอดภัยต่าง ๆ โดยจะเริ่มต้นการประเมินความปลอดภัยของอาคารอพยพที่สามารถถูกกำหนดขึ้น เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน โรงแรม และสถานที่ราชการ โดยใช้แบบจำลองพหุฟิสิกส์เชิงคำนวณ Fluid-Structure Interaction

ศึกษารอยเลื่อนมีพลัง-สำรวจภูมิประเทศชายฝั่ง

ด้าน ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า แผ่นดินไหวไร้พรมแดน ที่ผ่านมาเกิดแผ่นไหวขนาดปานกลางและขนาดใหญ่จำนวนมากใกล้ชายแดนประเทศไทย สร้างความเสียหายให้ชุมชนที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-ประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง จึงจำเป็นต้องศึกษารอยเลื่อนมีพลังและลักษณะการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยในอนาคต ซึ่งถือเป็นความร่วมมือไร้พรมแดน

 ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์

ระบบแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวยังมีข้อจำกัดหลายอย่างและใช้เงินลงทุนสูงมาก จึงควรศึกษาข้อดี ข้อด้อยและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยอาจทำเป็นระบบนำร่องก่อนลงทุนจำนวนมาก 

 

ผศ.ดร.ภาสกร กล่าวว่า ข้อจำกัดที่สำคัญที่สุดของการสร้างแบบจำลองสึนามิของประเทศไทย คือ ยังขาดข้อมูลภูมิประเทศความละเอียดสูงมากของชายฝั่งของประเทศไทยทั้งบนบกและในทะเล จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจให้ได้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อให้การสร้างแบบจำลองมีความแม่นยำมากขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง