ประเมิน "โอมิครอน" กระทบจีดีพี เสี่ยงโตต่ำกว่า 3.0-3.8%

เศรษฐกิจ
27 ธ.ค. 64
16:32
324
Logo Thai PBS
ประเมิน "โอมิครอน" กระทบจีดีพี เสี่ยงโตต่ำกว่า 3.0-3.8%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมิน 3 แนวทาง ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ต่อเศรษฐกิจไทย หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุด อาจเติบโตต่ำกว่า 3% แต่หากควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยเติบโต 3.8% ตามที่คาดการณ์ไว้

วันนี้ (27 ธ.ค.2564) นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก​ พร้อมความกังวลว่าจะแพร่ได้เร็วกว่าสายพันธุ์​เดลต้าที่มีความรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ​ยิ่งกดดันบรรยากาศการท่องเที่ยว​ การใช้จ่าย​ และการลงทุน​ รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจ​โลก​ สำนักวิจัยฯ จึงเตรียมตั้งคำถามว่า​ การระบาดของโอมิครอนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ​ไทย​เพียงไร

สำนักวิจัยฯ ยังไม่ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ​เศรษฐกิจ​ไทย​จากที่เคยให้ไว้ที่​ 3.8% เมื่อปลายเดือน พ.ย. แต่มองว่าการระบาดของสายพันธุ์​ใหม่​นี้นับเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐ​กิจ​ไทย​ ส่วนจะกระทบมากน้อยเพียงใด และกระทบภาคส่วนใดทางเศรษฐกิจ​ได้ประเมิน​การเติบโตของ GDP​ ไทยออกเป็น​ 3 แนวทาง

1. โอมิครอนไม่ระคาย​ GDP​ ไทย​โตได้​ 3.8% ตามคาด - หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไม่เร่งขึ้น​ ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้​ ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุข​ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์​ได้ จนไม่ต้องมีมาตรการจำกัดกิจกรรม​ทาง​เศรษฐกิจ​ เพียงแต่การบริโภคสินค้าและบริการอาจชะลอในระยะสั้น​ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหาร​ โรงแรม​ ขนส่งคน​ อาหาร​ และเครื่องดื่ม​​ แต่น่าจะฟื้นตัวได้ภายใน 1 - 2 เดือน​ คล้ายการระบาดรอบ 2 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้​ อาจเห็นการเปลี่ยนความคิด จากไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ เป็นการต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ​จึงไม่มีการปิดเมือง​ หรือจำกัดการเดินทางและการใช้จ่ายใดๆ​ และต้องติดตามว่าสายพันธุ์​โอมิครอนอาจไม่ได้ส่งผลรุนแรงต่อสุขภาพ​เท่าสายพันธุ์​เดลต้า​ เพียงแต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ​

2.ไม่ล็อกดาวน์แต่กระทบภาคบริการไตรมาสแรก ​GDP​ ไทยทั้งปีโตเฉียด 3% -​ แม้ไม่มีการออกมาตรการจำกัดกิจกรรม​ทาง​เศรษฐกิจ​อย่างเข้มงวด​ แต่การที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว​ จะกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค​ และจะยิ่งส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว​ลง​

อย่างไรก็ดี​ สถานการณ์​น่าจะคล้ายช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย.ที่การใช้จ่ายแผ่วลง​ แต่เศรษฐกิจ​ไทย​ยังขยายตัวจากไตรมาสก่อนได้​ ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและการส่งออก​ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบนอกเหนือจากภาคบริการและการท่องเที่ยว​เดินทางแล้ว​

กลุ่มการบริโภคที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นผู้บริโภคและแนวโน้มเสถียรภาพการจ้างงาน​เช่น​ รถยนต์​ เสื้อผ้า​ และเฟอร์นิเจอร์ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

3.โอมิครอนลามภาคการผลิต​ ห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน​ GDP​ ไทยเสี่ยงต่ำ 3% - หากปัญหาการระบาดลากยาวและรุนแรง จนส่งผลให้คนงานล้มป่วยหรือต้องมีมาตรการจำกัดจำนวนคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม​ เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานจนกำลังการผลิตลดลง​ กระทบภาคการลงทุน​

อีกทั้งปัญหานี้กระจายไปยังประเทศต่างๆ​ จนโรงงานผลิตวัตถุดิบ​หรือชิ้นส่วนสำคัญต้องหยุดชะงัก​ มีผลให้ห่วงโซ่อุปทานในการผลิตสำคัญๆ​ ต้องพลอยชะงักงันไปด้วย​ เช่น​ รถยนต์​ รถจักรยานยนต์​ อุปกรณ์​อิเล็กทรอนิกส์​ และอาหารแปรรูป​ เช่น ไก่แปรรูป​ และอาหารทะเลแช่แข็ง​ ซึ่งจะกระทบการส่งออกของไทยอีกทอดหนึ่ง​

อ่านข่าวเพิ่มเติม

"คลัสเตอร์กาฬสินธุ์" ยืนยันผลโอมิครอน 125 คน รอผลตรวจอีก 97

29 ธ.ค.นี้ "คนกลางคืน" 36,704 คนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท

ใครบ้าง? ถูกตั้งชื่อ "เสือโคร่ง" ในผืนป่าตะวันตก

"สมยศ" มอบเช็ค 10 ล้าน ให้ "นักเตะ - ทีมงาน" หลังผ่านเข้าชิงชนะเลิศ "อาเซียนคัพ"

“Token X - iAM” จับมือดัน BNK48 ใช้บล็อกเชนเชื่อมแฟนคลับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง