รถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ "MobED" ช่วยมนุษย์ทำงาน

Logo Thai PBS
รถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ "MobED" ช่วยมนุษย์ทำงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ MobED ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ 4 ล้อ ทรงตัวยอดเยี่ยม ปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ใช้ขนส่งพัสดุ ส่งอาหาร หรือใช้เพื่อความบันเทิง

บริษัทเอกชนในประเทศเกาหลีใต้เปิดตัว "MobED" หรือ "Mobile Eccentric Droid" รถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ออกแบบมาเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย ขนส่งพัสดุ ส่งอาหาร หรือใช้เพื่อความบันเทิง MobED มีขนาดกะทัดรัด เน้นการเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องแคล่ว ผสมผสานเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ากับรถขนาดเล็กพลังงานไฟฟ้า ในอนาคตอาจกลายเป็นรถหุ่นยนต์สำหรับใช้งานภายในบ้านทุกหลัง

รถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ MobED ผลงานการออกแบบโดยแผนก Robotics Lab ของบริษัทมีรูปลักษณ์ภายนอกที่เรียบง่ายขนาดประมาณ 67 x 60 x 33 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม น้ำหนักส่วนใหญ่มาจากแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้าขนาด 2 kWh แบตเตอรี่ใช้เวลาชาร์จประมาณ 4 ชั่วโมง ระบบขับเคลื่อนเป็นแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติใช้ล้อขนาดใหญ่ 4 ล้อ สามารถหมุนปรับแกนได้เกือบ 180 องศา ทำให้รถหุ่นยนต์สามารถวิ่งไปข้างหน้า สไลด์ตัวไปด้านข้างหรือวิ่งถอยหลังได้อย่างรวดเร็ว โครงสร้างของตัวรถหุ่นยนต์ถูกออกแบบให้สามารถปรับแต่งเพิ่มเติมอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ติดตั้งทีวีแสดงผล อุปกรณ์จับยึดสำหรับขนส่งพัสดุ

จุดเด่นของ MobED

จุดเด่นของรถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ MobED คือ ความสามารถในการทรงตัวที่ยอดเยี่ยม ระบบ Atabilizing ปรับเปลี่ยนความสูงของล้อแต่ละข้างแยกออกจากกันแบบอัตโนมัติเพื่อรักษาระดับของตัวรถให้มีความสม่ำเสมอ แก้วน้ำหรือพัสดุไม่ร่วงหล่นแม้จะวิ่งขึ้นเนินที่มีความชัน ฐานของล้อสามารถย่อขยายได้ เมื่อเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฐานล้อจะปรับขนาดเป็น 65 เซนติเมตร แต่หากใช้ความเร็วต่ำปรับขนาดเหลือ 45 เซนติเมตร

บริษัทมีแผนนำรถหุ่นยนต์อเนกประสงค์ MobED ไปจัดแสดงในงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม CES 2022 ที่เมืองลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ร่วมกับเทคโนโลยีรถยนต์ หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่โดดเด่นของบริษัทในปี 2022 เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือรถขับเคลื่อนอัตโนมัติกำลังกลายเป็นเทคโนโลยีกระแสหลักและจะเข้ามามีบทบาทในรูปแบบต่าง ๆ

ที่มาข้อมูล : New Atlas, The Verge
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง