ถึงเวลารัฐบาลจะยอมรับว่ามี "โรคระบาดในหมู" ได้แล้วหรือยัง?

เศรษฐกิจ
9 ม.ค. 65
20:01
6,320
Logo Thai PBS
ถึงเวลารัฐบาลจะยอมรับว่ามี "โรคระบาดในหมู" ได้แล้วหรือยัง?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาครัฐปฏิเสธมาตลอดว่า 2 ปีว่าไทยไม่เคยพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพราะป้องกันดี แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีเอกสารผลการตรวจสุกรในประเทศว่าติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาจากแล็ปที่น่าเชื่อถือ ถูกเผยแพร่ออกมา ซึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้แล้ว

ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ หรือ ไทยรัฐพลัส ได้นำสำเนาเอกสารฉบับหนึ่ง มาเผยแพร่บนเว็บไซต์ เป็นการแจ้งผลชันสูตรซากสุกรที่ตาย ซึ่งตรวจที่ห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

 

เอกสารระบุชัดว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจ ป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และมีการระบุว่าผลการตรวจนี้ ได้รายงานไปให้ทางหน่วยงานในกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว

เมื่อสอบถามไปที่ ผศ.นสพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ รองคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่า สำเนาเอกสารเป็นผลการตรวจจริง แต่ไม่ทราบว่าถูกนำไปเผยแพร่ได้อย่างไร

สำหรับเคสที่ตรวจ เป็นสุกรที่ประชาชนเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนตาย จึงกังวลใจว่าสุกรที่ยังอยู่จะเป็นอย่างไร จึงนำมาให้ชันสูตร ผลชันสูตรพบว่า เป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF)

 

ผศ.นสพ.ณัฐวุฒิ ยืนยันว่าเป็นผลตรวจเมื่อเดือน ธ.ค.2564 แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า การระบาดมีมานานเท่าใด และต้องสืบค้นหรือสอบสวนต่อถึงแหล่งที่มาของเชื้อ

เคสนี้ เราต้องดูว่าเขาติดมาจากไหน ปกติโรคอหิวาต์แอฟริกา จะติดต่อโดยการกิน สุกรตัวนี้กินอาหารเดียวกับเจ้าของ ถ้ามีการปนเปื้อนในอาหาร ก็มีโอกาสมีเชื้อนี้อยู่ในแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร

สิ่งสำคัญที่อยากจะย้ำคือ โรค ASF ไม่ทำอันตรายต่อคนที่กิน หรือสัตว์ชนิดอื่น แต่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น สามารถเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่สุกรได้ เช่น นกไปกินเศษอาหารในขี้สุกรที่ติดเชื้อ แล้วบินไปฟาร์มอีกแห่งหนึ่ง หรือเชื้ออาจปะปนอยู่ในเนื้อสุกรที่ซื้อมาจากตลาด

 

ผศ.นสพ.ณัฐวุฒิ อธิบายว่าเชื้อมีขนาดใหญ่กว่าไวรัสปกติ และมีความทนทานกับความร้อน หากจะฆ่าให้ตาย ต้องปรุงอาหารด้วยความร้อน 80 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 นาที ส่วนมากการผัดและการต้มจะไม่ถึง 15 นาที เชื้อก็ยังอยู่ในเนื้อสุกรที่ปรุงสุก หากนำเนื้อสุกรไปแช่แข็งด้วยความเย็นจัด เชื้อก็อยู่ในเนื้อชิ้นนั้นได้ถึง 1,000 วัน หรือเกือบ 3 ปี

 

ผศ.เสกสม อาตมางกูร อดีตคณบดีคณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า รัฐต้องยอมรับก่อนว่าจริง ๆ แล้ว ขณะนี้มีการระบาดจากโรคอะไร เพื่อดำเนินการรื้อระบบโครงสร้างการเลี้ยงสุกรให้มีมาตรฐานสูง โดยรัฐต้องเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรขนาดเล็ก แต่ไม่ใช่เลี้ยงจุดเดิมที่เดิม เพราะเชื้อคาดว่ายังฝังตัวอยู่

ปล่อยให้เกษตรกร ทำโดยลำพังไม่ได้ กว่าจะหาที่ใหม่ต้องมีหลายขั้นตอน เงินทุนธนาคารก็ไม่ปล่อยให้แล้ว การแก้ปัญหาจึงต้องคุยกันทั้งหมด เอาปัญหามาบูรณาการกัน 

ทั้งนี้ หากรัฐปล่อยให้เกษตรกรดิ้นรนเอง เชื่อว่าภายในไม่กี่ปีอุตสาหกรรมสุกรจะเหลือแค่ 4-5 ราย ดังนั้นหลักการเลี้ยงสุกรในอนาคต ไม่ควรเลี้ยงแบบใช้เศษอาหาร ต้องมีอาหารเฉพาะ

รัฐควรใช้โอกาสนี้ กำหนดแนวทางการเลี้ยงสุกรที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม โรค ASF ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งการทำลายต้องใช้วิธีเผาหรือฝังเท่านั้น

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง