จีนทดสอบ "EAST ดวงอาทิตย์เทียม" ร้อนกว่าของจริง 5 เท่า คาดเป็นพลังงานสะอาดแหล่งสุดท้าย

Logo Thai PBS
จีนทดสอบ "EAST ดวงอาทิตย์เทียม" ร้อนกว่าของจริง 5 เท่า คาดเป็นพลังงานสะอาดแหล่งสุดท้าย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จีนทดสอบ "ดวงอาทิตย์เทียม" สำเร็จ ร้อนกว่าดวงอาทิตย์จริง 5 เท่า และนาน 1,056 วินาที คาดเป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับอนาคต

สถาบันฟิสิกส์พลาสมา (Institute of Plasma Physics, Chinese Academy of Sciences - ASIPP) ของประเทศจีน ประสบความสำเร็จในการทดสอบดวงอาทิตย์เทียมที่มีชื่อเรียกว่า "EAST" ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค (Tokamak) ที่จำลองการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชัน โดยการทดลองรอบล่าสุดให้ความร้อนที่มากกว่าดวงอาทิตย์จริงถึง 5 เท่า ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น

ดวงอาทิตย์เทียม หรือ EAST (Experimental Advanced Superconducting Tokamak) เป็นผลงานการวิจัยของสถาบันฟิสิกส์พลาสมา ในนครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุย ทางภาคตะวันออกของประเทศจีน โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างดวงอาทิตย์เทียมเพื่อผลิตพลังงานสะอาดที่จะนำมาทดแทนพลังงานฟอสซิล น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติที่อาจจะหมดไปในไม่ช้า

การจำลองการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันของดวงอาทิตย์เทียม เหมือนการเกิดปฏิกิริยาบนดวงอาทิตย์จริง โดยผลการทดสอบครั้งล่าสุดในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่าประสิทธิภาพของอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น และสามารถทำความร้อนได้นานถึง 1,056 วินาที (ประมาณ 17 นาที) ที่อุณหภูมิเกือบ 70 ล้านองศาเซลเซียส

แม้ว่าอุณหภูมิจากการทดสอบครั้งล่าสุดจะน้อยกว่าการทดสอบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ที่ให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 120 ล้านองศาเซลเซียส ในระยะเวลา 101 วินาที แต่อุณหภูมิความร้อนจากดวงอาทิตย์เทียมที่อุณหภูมิ 70 ล้านองศาเซลเซียส ก็ถือว่ามากพอที่จะนำมาใช้งาน เพราะอุณหภูมิที่ได้นั้นมากกว่าดวงอาทิตย์จริงถึง 5 เท่า

การจำลองการสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันด้วยดวงอาทิตย์เทียม จะใช้พลังงานจากดิวเทอเรียม (Deuterium) ที่มีส่วนประกอบของธาตุไฮโดรเจนชนิดหนัก ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในท้องทะเล และจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน โดยนักวิจัยคาดว่าพลังงานที่ได้จะกลายเป็นพลังงานสะอาดที่น่าจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดแหล่งสุดท้ายในอนาคต

ที่มาข้อมูล: english.ipp.cas.cn, independent, xinhuanetlivescience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง