หาคำตอบ ติดหวัดแล้วจะมีภูมิต้านโควิดจริงหรือ ?

ต่างประเทศ
11 ม.ค. 65
19:27
892
Logo Thai PBS
หาคำตอบ ติดหวัดแล้วจะมีภูมิต้านโควิดจริงหรือ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะนักวิจัยจาก Imperial College London ในอังกฤษเผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุด พบว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เรียกว่า T-Cell จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคหวัด อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ และอาจปูทางไปสู่การพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ในอนาคต

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผลการศึกษาของ Imperial College London ในอังกฤษตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature Communications หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาขนาดเล็กมานานไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี 2563

นักวิจัยศึกษาระดับของ T-Cell ในอาสาสมัคร 52 คน ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนและอาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 ครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครไม่ติดเชื้อ COVID-19 และ 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้ มีระดับ T-Cell สูงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ T-Cell ที่ตรวจพบในร่างกายของอาสาสมัคร อาจจะสร้างขึ้นจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาก่อโรคหวัดทั่วไป ซึ่งนักวิจัยยังพิจารณาระบบระบายอากาศและการสัมผัสติดต่อในครัวเรือนว่าจะส่งผลต่อการติดเชื้ออย่างไร 


สำหรับ T-Cell เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ผลิตสารภูมิต้านทานออกมาทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส โดยเซลล์ชนิดนี้จะอยู่ในร่างกายเป็นเวลายาวนานและสามารถป้องกันการโจมตีของไวรัสในอนาคตได้อีกด้วย

ขณะที่ผลการศึกษาจากอังกฤษตอกย้ำให้เห็นบทบาทสำคัญของ T-Cell ในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แม้ว่าระดับภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจะเริ่มลดลง หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้วประมาณ 6 เดือนก็ตาม

ดร.ไซมอน คลาร์ก จากมหาวิทยาลัย Reading ระบุว่า ผลการศึกษาอาจช่วยพัฒนาวัคซีนในอนาคต ส่วนความเข้าใจว่าคนเพิ่งป่วยเป็นหวัดจะไม่ติดเชื้อ COVID-19 เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง เนื่องจากเชื้อไวรัสก่อโรคหวัดมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 10-15 ของเชื้อไวรัสโคโรนาเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ร่วมการศึกษาในครั้งนี้ยังย้ำว่า วัคซีนยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 โดยเป้าหมายของวัคซีนในปัจจุบัน คือ โปรตีนหนาม ซึ่งการกลายพันธุ์ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง


นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ สวทช. ระบุว่า T-Cell เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนยาก แม้ว่าโอมิครอนจะเข้ามา แต่ยังมีความเชื่อว่า โอมิครอนจะหนี  T-Cell ไม่ได้

จุดที่โอมิครอนเปลี่ยนอยู่ตรงตำแหน่งของหนามสไปรท์ แต่โปรตีนตัวอื่นจะอยู่ด้านนอก หรือโปรตีนที่ไวรัสใช้เพิ่มปริมาณตัวเอง ยังค่อนข้างเหมือนเดิม ยังอนุรักษ์ตัวสารพันธุกรรม หรือระดับโปรตีนที่เหมือนกัน ดังนั้น T-Cell ก็ยังจับโอมิครอนได้อยู่ 


ทั้งนี้ การศึกษานี้ไม่ได้สนับสนุนให้คนหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนเพราะการเป็นหวัดไม่ช่วยสร้างภูมิต่อ COVID-19 เสมอไป 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง