NTU พัฒนา "แบตเตอรี่กระดาษ" ย่อยสลายได้หลังใช้งาน ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์

Logo Thai PBS
NTU พัฒนา "แบตเตอรี่กระดาษ" ย่อยสลายได้หลังใช้งาน ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง พัฒนาแบตเตอรี่ที่มีความบางเท่าแผ่นกระดาษ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และย่อยสลายได้หลังใช้งาน

แม้ว่าแบตเตอรี่ลิเทียมจะเป็นแหล่งพลังงานที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์ได้หลากหลาย แต่ก็ยังมีข้อเสียในเรื่องของขนาดอยู่บ้าง ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางได้พัฒนาแบตเตอรี่ที่มีความบางเท่าแผ่นกระดาษ แต่สามารถจ่ายพลังงานให้อุปกรณ์ขนาดเล็กได้ และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แบตเตอรี่กระดาษ ขนาด 4 x 4 ซม. พัฒนาโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University - NTU) ซึ่งหนาเพียง 0.4 มม. แม้ว่าจะมีขนาดเล็กและมีความบางเท่ากับแผ่นกระดาษ แต่ประสิทธิภาพในการทำงานนั้นไม่ได้น้อยไปตามขนาด เพราะสามารถให้พลังงานกับพัดลมขนาดเล็กได้นาน 45 นาที และที่สำคัญ สามารถนำกลับมาชาร์จไฟเพื่อใช้ซ้ำได้

ทีมนักวิจัยคาดว่าความสำเร็จของการพัฒนาแบตเตอรี่กระดาษที่มีขนาดเล็กนี้ จะกลายเป็นแหล่งพลังงานให้กับอุปกรณ์พกพาต่าง ๆ ได้ในอนาคต เพราะไม่เพียงมีขนาดที่เล็กลง แต่ยังมีราคาที่ถูกกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมถึง 10 เท่า ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ประเภทชาร์จไฟได้เหมือนกัน

แบตเตอรี่กระดาษผลิตจากแผ่นกระดาษเซลลูโลสที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจล แล้วเคลือบกระดาษด้านหนึ่งด้วยแมงกานีส ส่วนอีกด้านหนึ่งเคลือบด้วยสังกะสีและคาร์บอนซึ่งเป็นตัวนำไฟฟ้า เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันจึงทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า แผ่นแบตเตอรี่กระดาษสามารถบิดหรืองอได้ โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับแผงวงจรไฟฟ้า และยังสามารถตัดแบ่งให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้เหมาะกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดแตกต่างกันได้

เมื่อหมดอายุการใช้งาน ผู้ใช้สามารถนำแบตเตอรี่กระดาษไปฝังใต้ดิน จะทำให้เกิดการย่อยสลายได้ภายใน 30 วัน โดยไม่เป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะแผ่นแบตเตอรี่ไม่มีปลอกอะลูมิเนียมที่หุ้มตัวแบตเตอรี่อยู่ จึงทำให้ไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์หลงเหลืออยู่ และแผ่นแบตเตอรี่ที่ย่อยสลายจะกลายเป็นธาตุอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงดินและพืชได้

ที่มาข้อมูลและภาพ: ntu.edu.sg, straitstimes, eurekalert
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง