หมอธีระระบุวิจัย "Long COVID" พบปัญหา "ด้านความจำ-เหนื่อยล้า"

สังคม
17 ม.ค. 65
08:43
3,927
Logo Thai PBS
หมอธีระระบุวิจัย "Long COVID" พบปัญหา "ด้านความจำ-เหนื่อยล้า"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุงานวิจัย Ceban F ผู้ป่วย Long COVID ทั้งที่อยู่บ้านและเข้าโรงพยาบาล เกิดผลข้างเคียงหลังจากหายแล้ว ด้วยอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย และมีปัญหาด้านความจำ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.5 เท่า ผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก 3 เท่า

วันนี้ (17 ม.ค.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า เมื่อวานนี้ (16 ม.ค.) ทั่วโลกติดโควิดเพิ่มสูงถึง 1,852,010 คน ตายเพิ่ม 3,827 คน รวมแล้วติดไปรวม 328,525,336 คน เสียชีวิต รวม 5,557,349 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อินเดีย อเมริกา อิตาลี และออสเตรเลีย

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.37 ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้น คิดเป็นร้อยละ 42.8 ของทั้งโลก

ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 43.95 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 8 ใน 20 อันดับแรกของโลก

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2565 รศ.นพ.ธีระ ได้อัปเดต COVID-19 ว่า หากไม่นับออสเตรเลียแล้ว ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีจำนวนการติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ประเทศต่าง ๆ ที่ทยอยเผชิญโอมิครอนไปก่อนหน้านั้น รวมถึงหลายประเทศในเอเชียที่กำลังระบาดหนักนั้น มีลักษณะกราฟการระบาดที่มีความชัน ในระยะอัตราเร่งคล้ายกันมาก

ในขณะที่ไทยยังไม่ได้ไต่ขึ้นแบบเขา หากดูเงื่อนเวลา ควรเห็นการเริ่มถีบตัวขึ้นราว 19-23 ม.ค. ส่วน Time to peak นั้น เท่าที่เห็นในประเทศอื่นมีความแปรปรวนพอสมควร ตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ และหลายประเทศก็ยังเป็นขาขึ้นไม่ peak ดี

ส่วนหลายประเทศในยุโรปก็ยูเทิร์นเป็นขาลง บอกตรง ๆ ว่า หากดูจากธรรมชาติการระบาดของโอมิครอนในต่างประเทศทั่วโลกแล้ว ผมไม่เชื่อว่าตอนนี้สถานการณ์เราทรงตัวจนจะเตรียมลั้นลาได้ แต่น่าจะกำลังไต่ขึ้นมากกว่า

รศ.นพ.ธีระ อัปเดต Long COVID ว่า งานวิจัยล่าสุดโดย Ceban F และคณะ ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานเพื่อตอบคำถามว่า คนที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วมีอาการคงค้าง หรือ Long COVID นั้น จะมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (fatique) และมีปัญหาด้านความจำ (cognitive impairment) มากน้อยเพียงใด ? และนานเพียงใด ?

ผลการศึกษาจากงานวิจัยกว่า 80 ชิ้น พบว่า คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเป็น Long COVID โดยมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้ถึง 1 ใน 3 และมีปัญหาด้านความจำ ราว 1 ใน 5

ผู้หญิงพบอาการ Long COVID ดังกล่าว มากกว่าผู้ชายราว 1.5 เท่า
ผู้ใหญ่พบอาการ Long COVID ดังกล่าว มากกว่าเด็ก 3 เท่า

ผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ดังกล่าว 1 ใน 3 มีอาการที่ติดตามน้อยกว่า 6 เดือน อีก 1 ใน 3 ก็พบได้ยาวนานกว่า 6 เดือน โดยยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากข้อจำกัดในการติดตามผลของแต่ละงานวิจัย

ที่สำคัญคือ อาการ Long COVID นั้น พบว่าเกิดได้ในคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (non-hospitalized) และที่ป่วยจนต้องรักษาในโรงพยาบาล (hospitalized)

ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทีมวิจัยทบทวนบ่งชี้ว่า มีการตรวจพบสารเคมีในเลือด ที่บ่งถึงกระบวนการอักเสบอย่างต่อเนื่องในกลุ่มคนที่เป็น Long COVID ซึ่งน่าจะมีส่วนอธิบายอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และอาจสะท้อนถึงโอกาสที่จะทำให้เกิดปัญหาในระบบต่าง ๆ ของร่างกายในระยะยาวได้

ด้วยข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบัน ย้ำว่า ควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี งดปาร์ตี้สังสรรค์กับคนอื่น พบคนน้อยลงสั้นลง อยู่ห่าง ๆ

หากไม่สบายคล้ายหวัด เจ็บคอ ไอ ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ควรรีบตรวจหาโควิดด้วย

"ไม่ติดเชื้อ ย่อมดีที่สุด"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง