"ผักจีน" ต้นทุนการผลิตต่ำ จูงใจผู้บริโภค

เศรษฐกิจ
18 ม.ค. 65
20:27
2,746
Logo Thai PBS
"ผักจีน" ต้นทุนการผลิตต่ำ จูงใจผู้บริโภค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การนำเข้าผักจากจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีแนวโน้มการนำเข้าพืชผักจากจีนมากขึ้น ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศแสดงความกังวลว่าพืชผักที่เข้ามาเพิ่ม จะกระทบกับเกษตรกรไทย และในอนาคตผักจากจีนจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เพราะการขนส่งสะดวก รวมถึงการทำข้อตกลงการค้าเสรี

วันนี้ (18 ม.ค.2565) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสลงพื้นที่ "ตลาดสี่มุมเมือง" ตลาดค้าส่งผักที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งตลาดแห่งนี้จะเป็นจุดซื้อขายผักทั้งในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศ โดยผักหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นพริกหวาน ผักกาดขาว บล็อกเคอรี่ กะหล่ำปลี หากไม่ถามถึงที่มาจากผู้ค้า ก็แยกไม่ออกว่านี่คือผักไทย หรือผักจีน

ผู้ค้าผักนำเข้าจากจีน ให้ข้อมูลว่า ผักที่นำเข้ามาจะมีขนาดใหญ่ สีสันสวยงามกว่าผักไทย ทำให้มีผู้ค้ามาซื้อจากทั่วประเทศ และกระจายไปยังตลาดต่างๆ

 

พ่อค้าผักคนหนึ่งที่ตลาดสี่มุมเมือง จ.ปทุมธานี เปิดเผยว่า นำเข้าผักจากจีนมากว่า 10 ปีแล้ว โดยจะสั่งซื้อผ่านตัวแทน ซึ่งการนำเข้าผักเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดร้อยละ 10-20

ส่วนมากจะชอบของจีน คุณภาพดี ราคาไม่แพง

 

ขณะที่แม่ค้าผักในตลาดนัดบางแห่งบอกว่า มาซื้อผักนำเข้าจากจีนที่ตลาดสี่มุมเมืองเป็นประจำ เนื่องจากผู้บริโภคนิยม

นิยมใช้ทุกอย่าง ตัวไหนถูกเขาก็จะเลือกไป

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ไปยังตลาดสดและตลาดนัดบางแห่ง พบว่า มีผักนำเข้าจากจีนหลายประเภทมาขายที่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นแครอท บล็อกเคอรี่ พริกหวาน ซึ่งขายรวมกันกับผักของไทย

ด้านผู้บริโภคคนหนึ่งกล่าวว่า ขณะซื้อผักไม่ได้สนใจว่าจะเป็นผักนำเข้า หรือผักในประเทศ แต่จะพิจารณาจากลักษณะและราคา สอดคล้องกับแม่ค้าผักคนหนึ่งที่บอกว่า ผู้บริโภคไม่ได้ถามถึงที่มาของผัก แต่สนใจเรื่องของราคาและความสวยงามมากกว่า

 

รศ.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การนำเข้าผักจีนในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 2 สาเหตุ คือ การเปิดรถไฟจีน-ลาว ที่ทำให้ระยะเวลาในการขนส่งเร็วขึ้น และข้อตกลง RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา

พร้อมระบุด้วยว่า เหตุผลที่จีนสามารถขายผักได้ในราคาต่ำ เพราะต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า จากการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะส่งผลต่อเกษตรกรไทย เนื่องจากผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนสูง ทำให้แข่งขันยาก โดยเสนอว่าต้องสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ การบริหารจัดการต้นทุนให้ต่ำลง เพื่อให้เกษตรกรไทยสามารถแข่งขันได้

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ รายงานการนำเข้าสินค้าผักจากจีนย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งก่อนการระบาดของโควิด-19 พบว่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเกิดการระบาด พบว่ามีปริมาณการนำเข้าลดลงจากการปิดด่าน

 

 

อ่านข่าวอื่นๆ

คนหันบริโภค "ปลานิล" ทางเลือกช่วงหมูแพง

"มะละกอ-ข้าวเหนียว" แพงตามหมู กระทบร้านอาหารอีสาน

"พาณิชย์" ตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาของแพง-ห้ามขึ้นราคาน้ำอัดลม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง