งบฯ กว่า 1,400 ล้านบาท แก้ปัญหาของแพงได้หรือไม่ ?

เศรษฐกิจ
19 ม.ค. 65
19:38
630
Logo Thai PBS
งบฯ กว่า 1,400 ล้านบาท แก้ปัญหาของแพงได้หรือไม่ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาทลดค่าครองชีพประชาชนที่ ครม.อนุมัติเมื่อ 18 ม.ค. ทำให้เกิดคำถามว่าจะแก้ปัญหาได้ทั่วถึงและตรงจุดหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานการณ์ข้าวยากหมายแพงจะลากยาวไปกว่า 1 ปี และคนที่ถูกกระทบมากสุดคือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท

วันนี้ (19 ม.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนเข้าคิวเป็นแถวยาว รอซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกกว่าท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม ที่จำหน่ายผ่านรถโมบายของกระทรวงพาณิชย์ บริเวณย่านลาดพร้าว เช่น ไข่ไก่เบอร์ 2 ถาดละ 80 บาท, น้ำมันปาล์มขวดละ 48 บาท จำกัดคนละไม่เกิน 2 ขวด, หมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 150 บาท แต่จำกัดการซื้อได้เพียงคนละ 1 กิโลกรัม ถือเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น

การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณกลางรวมทั้งสิ้น 1,480 ล้านบาท ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาสินค้า เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกกว่าท้องตลาด ผ่านจุดจำหน่ายและรถโมบาย 3,050 จุด เป็นระยะเวลา 90 วัน คาดว่าจะเริ่มต้นในสัปดาห์หน้า

 

แม้จะมีจุดจำหน่ายมากขึ้น แต่ประชาชนบางส่วนมองว่าไม่ทั่วถึง

คงเข้าไม่ถึง เพราะเราอยู่ห่าง เวลาลดราคาคนก็เยอะมาก ไปเข้าคิวไม่ทัน

ขณะที่ประชาชนบางส่วนมองเห็นประโยชน์

น่าจะช่วยได้ ตอนนี้รู้สึกว่าคนมีเงินน้อยลง เพราะช่วงโควิดคนตกงานเยอะ ถ้ารัฐบาลช่วยเรื่องสินค้าที่ถูกลง ก็อาจจะขายดีขึ้น ช่วยแบ่งเบาภาระพวกเราได้ด้วย

ขณะเดียวกันราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี มีผลถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด จักรยานยนต์รับจ้างคนหนึ่ง บอกว่า ต้องจ่ายน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ค่าโดยสารไม่สามารถปรับขึ้นได้ กระทบต่อรายได้

ทีมข่าวไทยพีบีเอส สำรวจราคาสินค้าพบว่ายังราคาสูงหลายรายการ เช่น เนื้อหมูยังอยู่ที่กิโลกรัมละ 230 บาท น้ำมันปาล์มขวดละ 58-60 บาท ซีอิ้วขาวขวดละ 55 บาท มีบางรายการปรับลดลง เช่น ไข่ไก่ปรับลดลงถาดละ 6 บาท ไก่สดไม่รวมเครื่องในอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหมวดค่าอาหาร เนื้อสัตว์ ผักสด ไข่ไก่ น้ำมันพืช อาหารปรุงสำเร็จ และอาหารนอกบ้าน ค่าไฟฟ้า และค่าเดินทาง

เฉพาะคนกรุงเทพฯ คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงปลายปีก่อน และคาดว่าปัญหาจะคาดว่าจะลากยาวมากกว่า 1 ปี ทำให้ใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็น และเห็นว่ารัฐจะต้องควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหารสด ของใช้ในชีวิตประจำวัน และพลังงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ รวมทั้งขยายมาตรการช่วยเหลือไฟฟ้าและค่าน้ำประปา

อ่านข่าวอื่นๆ

ครม.อนุมัติงบกลาง 1,480 ล้าน ขายของราคาประหยัด 3,000 จุด

กกร.เพิ่ม "ไก่" เป็นสินค้าควบคุม ห้ามขึ้นราคาตามอำเภอใจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง