"นูซันตารา" เมืองหลวงด้านการบริหารแห่งอินโดนีเซีย

ต่างประเทศ
20 ม.ค. 65
15:41
782
Logo Thai PBS
"นูซันตารา" เมืองหลวงด้านการบริหารแห่งอินโดนีเซีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การย้ายศูนย์บริหารราชการของอินโดนีเซียจากกรุงจาการ์ตาบนเกาะชวา ไปอยู่ใน จ.กาลิมันตัน ตะวันออก บนเกาะกาลิมันตัน เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากรัฐสภาอินโดนีเซียผ่านร่างกฎหมาย รัฐบาลประเมินโครงการก่อสร้างเมืองหลวงด้านการบริหารแห่งใหม่ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี

ภายหลังจากโครงการก่อสร้างเมืองใหม่แห่งนี้ เมื่อปี 2020 ต้องหยุดชะงักไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐสภาอินโดนีเซียผ่านกฎหมายเปิดทางสู่การย้ายศูนย์กลางการบริหารจากกรุงจาการ์ตา ไปยังเกาะกาลิมันตัน

มีการเผยแพร่ภาพ 3 มิติแสดงให้เห็นอาคารทำเนียบประธานาธิบดี ตั้งตระหง่านท่ามกลางต้นไม้สีเขียวปกคลุมไปทั่วบริเวณ ส่วนอาคารที่พักอาศัยรูปทรงทันสมัย สร้างขึ้นบนแนวคิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ประชาชนใกล้ชิดธรรมชาติ

"นูซันตารา" ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 562 ตารางกิโลเมตรใน จ.กาลิมันตัน ตะวันออก บนเกาะกาลิมันตัน โครงการนี้ยังได้รับการจัดสรรที่ดินสำหรับขยายพื้นที่ในอนาคต รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,561 ตารางกิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้างนูซันตาราอาจสูงถึง 33,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท

นูซันตาราจะบริหารโดยสำนักงานเมืองหลวงแห่งชาติ ประธานาธิบดีแต่งตั้งผู้บริหารมาทำหน้าที่สมัยละ 5 ปี โดยรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามผลักดันให้เมืองนูซันตารา เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การสร้างศูนย์กลางการบริหาร ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว อาจใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ขณะที่พาดหัวข่าวของสื่อหลายสำนักทั่วโลก ระบุว่า นูซันตาราเป็นเมืองหลวงใหม่อาจทำให้หลายคนรู้สึกสับสน

 

กรุงจาการ์ตา ประสบปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และน้ำท่วมจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ในพื้นที่ 600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า พื้นที่ 1 ใน 3 ของเมืองหลวงอาจจมอยู่ใต้น้ำในปี 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า

ขณะที่การสร้างโครงการเมกะโปรเจคบนเกาะกาลิมันตัน กำลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการทำเหมืองและการปลูกปาล์มน้ำมันได้คุกคามที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์เป็นทุนเดิม

"นูซันตารา" ประเด็นร้อนถกเถียงในสื่อออนไลน์

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อ "นูซันตารา" อาจทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกสับสน ซึ่งนูซันตารายังมีความหมายในมิติประวัติศาสตร์ครอบคลุมหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยด้วย

ประธานาธิบดีโจโค วีโดโด เลือกชื่อ "นูซันตารา" หรือ "หมู่เกาะ" มาจากรายชื่อเมืองใหม่กว่า 80 รายชื่อ การใช้ชื่อนูซันตาราเป็นการตอกย้ำคำขวัญของอินโดนีเซีย ในเรื่องเอกภาพแห่งความหลากหลาย ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนา ระบุว่า คำนี้ง่ายต่อการจดจำและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของประชาชน

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคน ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐช่างไร้ความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อเมืองใหม่ นอกจากนี้คำว่านูซันตาราอาจสร้างความสับสน เนื่องจากคำนี้ถูกใช้เรียกภูมิภาคช่วงศตวรรษที่ 13

ประเทศไหนบ้างเคยย้ายเมืองหลวง

ที่ผ่านมา หลายประเทศย้ายหรือประกาศตั้งเมืองหลวงใหม่ ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ทั้งการประกาศเอกราช การสร้างเมืองที่เป็นกลาง หรือด้วยปัจจัยด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง

กรุงเบอร์ลิน - เยอรมัน

ราว 2 ปี หลังการล่มสลายของกำแบงเบอร์ลิน หนึ่งในข้อถกเถียงการรวมชาติระหว่างเยอรมนีตะวันตก และตะวันออก คือ เมืองหลวงจะเป็นกรุงบอนน์ หรือกรุงเบอร์ลิน แม้ไม่ใช่การย้ายเมืองหลวงตามนิยามทั่วไป เพราะเบอร์ลินนับเป็นเมืองหลวงเก่าแก่ของเยอรมนี ขณะที่บอนน์ เป็นเมืองหลวงชั่วคราวของเยอรมนีตะวันตก

20 มิถุนายน 1991 หลังถกกันกว่า 10 ชั่วโมง บุนเดสทาก รัฐสภาของเยอรมัน ลงมติ 338 ต่อ 320 เสียง ให้เบอร์ลินเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ เมื่อคะแนนไม่ขาดนำไปสู่กฎหมาย Berlin-Bonn Act สองปีถัดมา ให้ย้ายรัฐสภาและสำนักรัฐมนตรีไปที่เบอร์ลิน ขณะที่ยังคงสำนักงานย่อยของบางหน่วยงานไว้ที่บอนน์

"เรากำลังจะออกเดินทางไปเบอร์ลิน แต่ไม่ใช้การสร้างประเทศใหม่" เฮลมุท โคห์ล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวในการประชุมสภาครั้งสุดท้ายที่บอนน์ เมื่อ 1 กรกฎาคม 1999

เนปยีดอ - เมียนมา

เอกภาพทางการเมือง ความแข็งแกร่งของกองทัพเมียนมา และป้องกันภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอก เป็นปัจจัยหลักในการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง ไปเนปยีดอ

หลังเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเมียนมาในปี 1988 สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ หรือ SLOC เดิม มุ่งเป้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพและระบอบเผด็จการ เพื่อป้องกันภัยคุกคาม ทั้งการต่อต้านของประชาชน การขยายกำลังชนกลุ่มน้อย และการโจมตีจากชาติตะวันตก

6 พฤศจิกายน 2005 รัฐบาลทหารเมียนมา ประกาศย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้ง ไปเนปยีดอ หรือที่แปลว่า "บัลลังก์แห่งกษัตริย์" ปราการเนปยีดอได้รับการพิสูจน์ เมื่อรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021

มกราคม 2011 รัฐสภาในกรุงเนปยีดอเปิดใช้ครั้งแรก กองทัพกุมเสียงส่วนใหญ่ ตั้งเป้าเดินหน้าสู่ "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย" แนวทางที่กองทัพนำมาอ้างอีกครั้งเพื่อกุมอำนาจทางการเมืองในปัจจุบัน

นูร์ ซุลตาน - คาซัคสถาน

7 ปี หลังได้รับอิสรภาพจากสหภาพโซเวียด นูร์ซูลตาล นาซาบาเยฟ ประธานาธิบดี ณ ขณะนั้น ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจากอัลมาตี ไปยังอาสตานา โดยให้เหตุผลว่า เมืองเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ มีแนวโน้มเกิดแผ่นดินไหวสูงและใกล้ชายแดนจีนเกินไป

เมื่อ คาสซิม โจมาร์ท โตกาเยฟ ทายาททางการเมืองของนาซาบาเยฟ สาบานตนขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคาซัคสถาน เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็น "นูร์ ซุลตาน" เพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตประธานาธิบดีคาซัคสถาน

แม้การย้ายเมืองหลวงจะเดินหน้ามากว่า 20 ปี ประชาชนที่ต้องย้ายตามมาเพราะอาชีพการงาน ยังเปรียบเทียบกับเมืองหลวงเก่าที่มีพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชน และเอื้อต่อการพบปะกันมากกว่า ขณะที่นักวิจารณ์มองว่าการย้ายเมืองเกี่ยวข้องกับการยึดโยงอำนาจทางการเมืองกับรัสเซีย

อ่านข่าวอื่นๆ

รัฐสภาไฟเขียวย้ายเมืองหลวงอินโดนีเซีย ตั้งชื่อใหม่ "นูซันตารา"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง