ปี 2019 พบคนเสียชีวิตเกี่ยวข้อง "เชื้อดื้อยา" 6 ล้านคน

ต่างประเทศ
21 ม.ค. 65
12:44
2,059
Logo Thai PBS
ปี 2019 พบคนเสียชีวิตเกี่ยวข้อง "เชื้อดื้อยา" 6 ล้านคน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
องค์กรที่ติดตามสถานการณ์ของเชื้อดื้อยาทั่วโลก เผยแพร่ผลการสำรวจและพบข้อมูลที่น่ากังวลว่าในปี 2019 การเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากเชื้อดื้อยา ทั้งทางตรงและทางอ้อมของคนทั้งโลกสูงกว่า 6 ล้านคน

วันนี้ (21 ม.ค.2565) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า หน่วยงานที่ติดตามสถานการณ์ของเชื้อดื้อยาใน 204 ประเทศและดินแดนทั่วโลกในปี 2019 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากกว่า 6 ล้านคน โดยแบ่งเป็นส่วนที่เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาโดยตรง 1.27 ล้านคน ซึ่งเท่ากับตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวีและมาลาเรียรวมกัน อีกส่วนหนึ่งคือเชื้อดื้อยามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต 4.95 ล้านคน ซึ่งข้อมูลนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารแลนซิท

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่ากังวล คือ 1 ใน 5 ของผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มประเทศที่เผชิญกับปัญหาเชื้อดื้อยามากที่สุด คือ ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาและภูมิภาคเอเชียใต้

ปัญหาเชื้อดื้อยา เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมานานหลายสิบปี หน่วยงานด้านสาธารณสุขของหลายประเทศต่างตระหนักถึงปัญหานี้ ก่อนหน้านี้ "อังกฤษ" เคยเตือนว่าในไม่ช้าโลกจะเผชิญกับหายนะเชื้อดื้อยา หากเป็นเช่นนั้นจริงถือว่าน่ากังวลมาก

สิ่งที่น่ากลัวก็คือเชื้อดื้อยาจะทำให้โรคที่เคยรักษาได้ หรือการผ่าตัดบางอย่าง กลายเป็นภาวะที่ทำให้มนุษย์เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น เนื่องจากยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ไม่สามารถฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคได้

เมื่อปี 2021 องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ เพราะพบว่ายาปฏิชีวนะ 43 ยี่ห้อ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและได้รับอนุมัติแล้ว ไม่มียาตัวไหนที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะต่อสู้กับเชื้อดื้อยาได้

ปัจจัยส่งผลให้เกิดการ "ดื้อยา"

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการดื้อยา ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกินยาที่ไม่ถูกต้อง เช่น กินยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น หยุดกินยาเองเมื่ออาการดีขึ้น ซื้อยากินเองตามที่เคยได้รับจากแพทย์ เปลี่ยนยาที่มีฤทธิ์แรงกว่าด้วยตัวเอง รวมถึงการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์โดยไม่จำเป็น ทำให้เชื้อโรคปรับตัวและพัฒนาตัวเองให้ต้านยาปฏิชีวนะได้ดีขึ้น จนในที่สุดยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ไม่สามารถฆ่าเชื้อหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคได้ เท่ากับว่ายาใช้ไม่ได้ผล

แต่วิธีแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาที่ดีที่สุด คือป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องควบคุมอย่างครบวงจร ทั้งในคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในประเทศไทยมีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ปีละประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตประมาณ 38,000 คน ถือเป็นอันตรายด้านสุขภาพที่มองข้ามไม่ได้

ที่มา : BBC, The Lancet

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง