ขวัญเสีย! "พิทักษ์ป่า" ทยอยลาออก เร่งของบกลางช่วย

สิ่งแวดล้อม
21 ม.ค. 65
15:59
2,302
Logo Thai PBS
ขวัญเสีย! "พิทักษ์ป่า" ทยอยลาออก เร่งของบกลางช่วย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พบลูกจ้างพิทักษ์ป่าบางแห่ง เริ่มทยอยลาออก 4-5 คน เช่น เขาแหลม และลำคลองงู จ.กาญจนบุรี หลังถูกปรับลดเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง 25% หัวหน้าอุทยานฯ ยอมรับห่วงขวัญกำลังใจ ขณะที่แนวโน้มดี กรมอุทยานฯ เข้าชี้แจงของบประมาณกลาง

กรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถูกปรับลดงบประมาณปี 2565 ทำให้ต้องปรับลดงบฯในส่วนของการจ้างงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งจะได้รับผลกระทบต่อพนักงานจ้างเหมาของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศและอาจถูกเลิกจ้างสูงถึง 50%

วันนี้ (21 ม.ค.2565) นายกมลาศ อิสสอาด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า หลังจากเดือนต.ค.2564 ที่มีการปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ลงในส่วนของอุทยานเขาแหลม มีบุคลากร 142 คน เป็นพนักงานราชการ 61 คน และผู้พิทักษ์ป่าลาดตระเวน 81 คน โดยต้องดูแลพื้นที่ป่าเขาแหลม 935,625 ไร่ ครอบคลุม อ.ทองผาภูมิ อ.สังขละบุรี ที่มีทั้งการลาดตระเวนทางบก และทางน้ำ เนื่องจากมีพื้นที่บางส่วนน้ำท่วมจากเขื่อนเขาแหลม 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กล่าวว่า ตอนนี้มีการปรับลดงบ 27% บางคนรับ 9,000 บาทเหลือ 7,500 บาท ลูกจ้าง 7,500 บาท เหลือ 6,200 บาท ถูกเลิกจาง 5 คน บวกกับปกติจะมีค่าเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 2,700-2,800 บาท แต่ปีนี้ได้เงินล่วงเวลา 10 วัน คนละประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น 

คนเริ่มทยอยลาออก-ห่วงขวัญกำลังใจ

เมื่อถามว่าหากเจ้าหน้าที่ลาออกเยอะจะกระทบกับภารกิจหรือไม่ นายกมลาศ กล่าวว่า มีการพูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดี เงินลดแต่ภารกิจยังเท่าเดิม ยังให้ความสำคัญกับการลาดตระเวนป่าในรอบ 1 เดือนต้องออก 14 วัน ซึ่งกาญจนบุรี มีป่าไม้ และสัตว์ป่าสำคัญและยังติดกับติดชายแดนด้วย 

บางคนก็มีภาระเงินที่หายไป ทำให้ไม่พอเลี้ยงปากท้องเริ่มทยอยลาออกไปแล้ว 5 คนเพราะเงินไม่พอใช้จ่าย ยอมรับห่วงขวัญกำลังใจ ถ้าลาออกพร้อมกัน ขาดแคลนเจ้าหน้าที่จะกระทบงานที่วางแผนไว้

 

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม กล่าวอีกว่า ตอนนี้ต้องปรับแผน ถ้ามีพิทักษ์ป่าลาออกจะเปิดรับสมัครทันที เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง รวมทั้งเกลี่ยคนจากหน้าที่อื่นๆ เช่น งานบริการมาทดแทน หมุนเวียนมาสนธิกำลัง รวมทั้งให้พนักงานราชการต้องทำงานทดแทนให้มากกว่าน้องๆที่เงินเดือนน้อย ในส่วนของตัวเองปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนตัว ส่วนพิทักษ์ที่ยังอยู่กับเรา เขาจะมีวันหยุดเดือนนึงอย่างน้อย 4 วันก็อนุญาตให้ไปรับจ้างทำงานที่ไม่ผิดกฎหมาย เช่น ทำสวน 

คนที่อยู่กับเราเป็นคนที่มีอุดมการณ์ จะให้ขวัญกำลังใจว่าวันหนึ่งถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น การท่องเที่ยวกลับมาเหมือนเดิม จะมีเงินรายได้จากการท่องเที่ยวกลับมาจ้างพวกเขา เงินเดินก็อาจจะปรับขึ้น

36 ปีจากรายได้ 1,500 บาทปีนี้วิกฤตสุด

ด้านนายบำรงค์ ห่อไธสง พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าชุดลาดตระเวนเขาแหลม กล่าวว่า ทำงานในอาชีพนี้มา 36 ปีแล้ว เพราะใจรัก และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ เริ่มตั้งแต่เงินเดือนไม่มาก จนสอบบรรจุเป็นพนักงานราชการ เป็นหัวหน้าชุด ช่วง 10-20 ปีก่อน เงินเดือนยัง 1,500 บาท จนมา 3,000 บาท กระทั่งช่วง 10 ปีหลังประมาณ 5,000-6,000 บาท และปัจจุบันขึ้นมาถึง 9,000 บาท

เงินลดลงมาเหลือ 7,500 บาท เบี้ยเลี้ยง 2,800 ลดลงเหลือ 1,000 บาท เมื่อก่อนไม่เคยถูกลดเงินเดือน ทำให้ขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่อาจจะเริ่มท้อบ้าง ในรอบ 36 ปีนี้ครั้งนี้ถือว่าวิกฤตมากที่สุด เพราะบางคนก็ลาออก บางคนก็บ่นท้ออยู่

ช็อบของเข้าป่าลด-เงินเดือนไม่เท่าเดิม

หัวหน้าชุดลาดตระเวนเขาแหลม กล่าวอีกว่า เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่ลดลง มีผลกระทบกับปากท้องและการซื้อของเข้าป่าในแต่ละครั้ง ต้องปรับลดลงไปด้วย เดิมตั้งงบไว้ 1,000 บาท ก็ลดเหลือ 500 บาท เช่นลดหมู จาก 2 กิโลกรัมเหลือ 1 กิโลกรัม เน้นของที่ถูกที่สุดจะเข้าป่าได้เช่นปลากระป๋อง มาม่า และใช้ผักที่หาได้ในป่าเยอะๆเช่น หยวกกล้วย ผักกูด 1 กระป๋องใส่ผักให้มากพอกับ 1 มื้อ โดยยอมรับว่าเคยไปขอข้าวสาร อาหารแห้งจากวัดในพื้นที่มาให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการเป็นเสบียงออกลาดตระเวน 

อยากให้เพิ่มเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยงเท่าเดิมที่เคยได้รับ เพราะตอนเศรษฐกิจไม่เท่าเดิม ของขึ้นราคาหมูจาก 130 บาท เป็น 200 บาท แต่เงินเดือนเราไม่เท่าเดิม เงินเดือนเรายังลดลงจากเดิม ตรงนี้เป็นขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่

นายบำรงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พยายามให้กำลังในน้องๆ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข เคยดูแลทรัพยากรร่วมกันว่าบางครั้งเกิดวิกฤตแต่ต่อไปอาจจะดีขึ้น แต่ไม่รู้จะวันไหนแต่เชื่อว่าสักวันต้องดีขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าพิทักษ์ป่าคืออาชีพเสี่ยง ภายใต้ข้อจำกัดหลายๆอย่าง เพราะเราไม่รู้ว่าเวลากลางค่ำ กลางคืนที่ออกปฏิบัติงานแทบจะไม่เคยคิดว่าชีวิตจะไปจบสิ้นตรงไหน ชีวิตจะรอดมั้ยจะได้กลับมาหรือไม่ บางคนก็ไม่ได้กลับมาเช่นสายตรวจที่จมน้ำตายเมื่อปีก่อน ที่ไม่ได้กลับมาหาครอบครัวเขามีลูกเล็ก 2 คนมีพ่อแม่ที่ต้องดูแล

ในช่วง 7 ปีมีพิทักษ์ป่าเขาแหลมเสียชีวิตปีละคน โดย 2 คนล่าสุดที่จมน้ำ ทำให้ไม่เคยคิดตรงนั้นว่าจะมีชีวิตรอดมาหรือไม่ ขอให้งานที่ทำผ่านไปอย่างราบรื่นในการดูแลทรัพยากร ไม่ให้คนที่จะคิดทำลายบุกรุก หรือหาประโยชน์ เราทำถึงที่สุด

สำนักงบฯเรียกคุยของบประมาณกลาง

ขณะที่นายดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์ ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหาแล้วว่าเริ่มพบลูกจ้างพิทักษ์ป่าลาออก ซึ่งตอนนี้มีการแจ้งตัวเลขจากอุทยานแต่ละแห่งส่งเรื่องไปที่ระดับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) เพราะไม่ได้เบิกจ่ายกับทางสบอ.ซึ่งจะมีการขอ้อมูลมาให้กับส่วนกลางรับทราบสถานการณ์ด้วย

เบื้องต้นทางกรมอุทยานฯ ได้เตรียมของบประมาณกลาง จากสำนักงบประมาณมาทดแทนเงินที่ถูกปรับลด และทางรองอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้เข้าชี้แจงกับสำนักงบฯแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าจะมีข่าวดี 

 

สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่เริ่มทยอยลาออก เช่น อุทยานแห่งชาติเขาแหลม 5 คน อุทยานแห่งชาติลำคลองงู 5 คน 

ขณะที่ อัตราจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า 5,163 คน ล่าสุดถูกตัดเหลือ 3,432 คน หายไป 1,731 คนคิดเป็นอัตรา 33 % แต่ไม่ได้ลดทั้งหมด กรมฯ นำเงินรายได้ค่าธรรมเนียมมาสนับสนุนปีละกว่า 200 ล้านบาท  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลเลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 1,731 คน ยอมหั่นเงินเดือน 25%

ร้องนายกฯ ทบทวนหั่นงบฯ ทส. เลิกจ้าง "ผู้พิทักษ์ป่า" 50%

ทส.ยื่นของบกลาง ช่วย "ผู้พิทักษ์ป่า" ไม่ต้องถูกเลิกจ้าง 50%

"ติ๊ก-เจษฎาภรณ์" กังขาตัดงบพิทักษ์ป่า-ข่าวดีอาจได้งบกลาง 400 ล้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง