พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี

สังคม
22 ม.ค. 65
10:31
1,444
Logo Thai PBS
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 95 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ละสังขารแล้ว ที่วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม สิริอายุ 95 ปี

วันนี้ (22 ม.ค.2565) เวลา 07.36 น. เฟซบุ๊กของ Thai Plum Village โพสต์ข้อความ พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ละสังขารแล้ว โดยระบุว่า สังฆะหมู่บ้านพลัมนานาชาติ ขอประกาศว่า หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์ที่รักยิ่งของเรา ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ วัดตื่อเฮี้ยว เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม เมื่อเวลา 0.00 น. ของวันที่ 22 ม.ค.2565 สิริอายุ 95 ปี

เราขอเชื้อเชิญครอบครัวทางจิตวิญญาณทั่วโลก ได้หยุดใช้ชั่วเวลาสักครู่ในความสงบ และกลับคืนสู่ลมหายใจแห่งสติ เพื่อที่เราจะได้โอบรับหลวงปู่ไว้ในหัวใจ ในสันติและความสำนึกคุณด้วยความรักต่อทุกสิ่งที่ท่านได้มอบให้ไว้ในโลก

ร่วมรำลึก หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ 

ขณะเดียวกัน เพจหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ - สวนโมกข์กรุงเทพ ได้โพสต์รำลึกถึงพระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ ว่าท่านเป็นพระมหาเถระนิกายเซน ผู้สนับสนุนให้พุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คำสอนเรื่องสติและการดำรงอยู่ในปัจจุบัน เป็นคำสอนสำคัญ ท่านย้ำเตือนอยู่เสมอให้ทุกคนมีสติในทุกการกระทำ ทั้งการเดิน นั่ง นอน ยิ้ม

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2554 ท่านและนักบวชจากหมู่บ้านพลัม ได้เมตตามาแสดงธรรมและนำปฏิบัติภาวนาตลอดวันที่สวนโมกข์กรุงเทพ (หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ) มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันอย่างเนืองแน่นตลอดวัน

พร้อมระบุประวัติโดยย่อ ดังนี้

Thich Nhat Hanh เป็นนามทางธรรมที่ได้รับหลังการบวช

ติช : Thich ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา

นัท ฮันห์ : Nhat Hanh เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า การกระทำเพียงหนึ่งเดียวซึ่งก็คือการเจริญสติ

ไถ่ : Thay เป็นภาษาเวียดนาม แปลว่า อาจารย์ ซึ่งศิษย์ต่างชาตินิยมเรียกท่านเช่นนั้น แต่ ศิษย์ชาวเวียดนามจะเรียกท่านว่า ซือองม์ : Su Ong ซึ่งอาจแปลเป็นไทยว่า หลวงปู่

ปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ.1938) บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุ 16 ปี ณ วัดตื่อเฮี้ยว (Từ Hiếu Temple (Tu Hieu)) เมืองเว้ ท่านได้เรียนรู้การฝึกปฏิบัติสติภาวนา โดยมีหลักคำสอนของพระอาจารย์และวิถีชีวิตประจำวันของผู้บวชใหม่ อันเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตนักบวช

ปี พ.ศ. 2492 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ปี เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความ ทำให้ถูกต่อต้านจากผู้นำองค์กรชาวพุทธและรัฐบาลในระยะนั้น

ปี พ.ศ. 2505 ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ หลังจากนั้น 1 ปี ก็ได้รับทุนอีกจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจกลับเวียดนาม เพื่อสานต่อแนวคิดพุทธศาสนาที่รับใช้สังคม

ปี พ.ศ. 2518 กำเนิดหมู่บ้านพลัม

หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ได้สร้าง "สังฆะ" ชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 ด้วยความตั้งใจที่จะแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตก สังฆะแห่งแรกตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ชื่อว่า อาศรมมันเทศ (Sweet Potato Hermitage) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้ย้ายลงไปทางตอนใต้และตั้งชื่อสังฆะแห่งใหม่นี้ว่า หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินแห่งนี้

ปัจจุบัน มีชุมชนการปฏิบัติธรรมแห่งหมู่บ้านพลัมกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิ ประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทยโดยมีนักบวชกว่า 500 รูป จาก 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางหมู่บ้านพลัม หรือ “สังฆะ” เกือบหนึ่งพันกลุ่ม กระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง