ดรามา! "หมอกระต่าย" เป็นศพนิรนาม 2 ชั่วโมง อ้าง ตร.เก็บหลักฐานยืนยันตัวตนไป

สังคม
24 ม.ค. 65
09:59
3,274
Logo Thai PBS
ดรามา! "หมอกระต่าย" เป็นศพนิรนาม 2 ชั่วโมง อ้าง ตร.เก็บหลักฐานยืนยันตัวตนไป
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โซเชียลตั้งคำถาม "หมอกระต่าย" กลายเป็นศพนิรนาม 2 ชั่วโมงอ้าง ตร.เก็บหลักฐานยืนยันตัวตนไปทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องเผยขั้นตอนโดยทั่วไป ตำรวจจะเก็บหลักฐานไปเพื่อติดต่อญาติและเป็นหลักฐานทางคดี ส่วนเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะเน้นช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บก่อน

กลายเป็นประเด็นที่หลายคนวิพากษ์วิจารณ์กรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย เสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย หน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท หลังในสื่อสังคมออนไลน์มีคนออกมาเปิดเผยว่า พญ.วราลัคน์ กลายเป็นศพนิรนามที่โรงพยาบาลอยู่ 2 ชั่วโมง เพราะตำรวจเก็บหลักฐานยืนยันตัวตนทุกอย่างไปไว้ที่สถานีตำรวจ ส่งผลให้ผู้ใกล้ชิดต้องติดต่อไปโรงพยาบาลหลายแห่งก่อนจะพบว่าอยู่โรงพยาบาลราชวิถี

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามพนักงานสอบสวนคนหนึ่งถึงขั้นตอนการทำคดีที่คล้ายคลึงกัน โดยพบว่า หากมีอุบัติเหตุรถชนจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หลังจากได้รับแจ้งเหตุตำรวจจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบจุดเกิดเหตุ ก่อนจะสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกู้ภัยที่มาช่วยเหลือนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลด้วย ซึ่งจะมีข้อมูลละเอียดว่า ผู้บาดเจ็บเป็นใคร ไปส่งที่โรงพยาบาลอะไร

ส่วนกรณีทรัพย์สินและหลักฐานยืนยันตัวตนของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น หากเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่ได้เก็บไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้นำไปเป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจ เนื่องจากเป็นคดีอาญา ซึ่งหลังตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้วพนักงานสอบสวนจะต้องกลับไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ และติดต่อญาติผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ หากไม่มีข้อมูลติดต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ตำรวจจะต้องดำเนินการหาข้อมูลญาติในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ต่อไป 

ขณะที่นายการันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.1669)  ระบุว่า สำหรับกรณี พญ.วราลัคน์ อาจต้องรอรายละเอียดและการชี้แจงเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป แต่โดยปกติหากเกิดอุบัติเหตุเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะเน้นเรื่องการรักษาชีวิตผู้ป่วย ดังนั้น หากเป็นเคสผู้ป่วยหนักหรือรุนแรง เจ้าหน้าที่มักจะไม่ไปหาหลักฐานหรือเอกสารยืนยันตัวตน หากหลักฐานเหล่านั้นไม่ได้อยู่กับตัวผู้บาดเจ็บ และจะรีบนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลก่อนเพื่อช่วยชีวิต ซึ่งในเคสเช่นนี้โรงพยาบาลก็จะไม่ถามเช่นกันว่ามารักษาด้วยสิทธิอะไรหรือผู้ป่วยเป็นใคร

อย่างไรก็ตาม หากมีหลักฐานติดตัวมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยอาจจะนำหลักฐาน เช่น บัตรประชาชน หรือ พ.ร.บ.ประกันภัยบุคคลที่ 3 ไปด้วย เพื่อใช้ประกอบการรักษา  หรือบางครั้งอาจะใช้เป็นการถ่ายรูปแล้วนำไป ก่อนจะส่งมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้บาดเจ็บให้กับตำรวจ ส่วนการติดต่อญาติหากมีข้อมูลโรงพยาบาลจะเป็นผู้ติดต่อไป หรือโดยทั่วไปจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วแต่กรณีไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง