ปรับปรุง "ทางม้าลาย" หลากหลายไอเดีย หวังลดอุบัติเหตุ

สังคม
26 ม.ค. 65
08:37
1,376
Logo Thai PBS
ปรับปรุง "ทางม้าลาย" หลากหลายไอเดีย หวังลดอุบัติเหตุ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จ.อุดรธานี ปรับปรุงทางม้าลายบริเวณหน้าโรงเรียนและโรงพยาบาล โดยตีเส้นให้ใหญ่กว่ามาตรฐาน เพื่อให้เห็นเด่นชัดทั้งผู้ใช้ถนนและคนข้ามถนน ขณะที่ไอเดียสร้างทางม้าลายมีหลากหลายรูปแบบทั้งแบบสามมิติ ตีเส้นซิกแซ็ก และแบบมีรั้วกั้น

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 นายธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศบาลนครอุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดเร่งปรับปรุงทางม้าลายเพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยจะปรับปรุงจุดสำคัญที่คนใช้เป็นจำนวนมาก ทั้งบริเวณหน้าโรงเรียน หน้าโรงพยาบาล

 

ซึ่งนำรูปแบบทางม้าลายของเมืองพัทยามาปรับใช้ และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณทางม้าลาย เพื่อเชื่อมข้อมูลกับทาง สภ.เมืองอุดรธานี เพื่อบังคับใช้กฎหมาย สำหรับผู้ที่ฝ่าผืนกฎหมายจราจร

 

นายธนดร กล่าวว่า บริเวณหน้าโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ถนนศรีสุข เกิดอุบัติเหตุบ่อย จึงออกแบบและปรับปรุงให้ทางมาลาย เป็นแบบ Overdesign หรือ ใหญ่กว่ามาตรฐาน ตีเส้นสีขาวระยะห่างประมาณ 40 เซนติเมตร ต่อ 1 ก้าว เหมาะแก่การเดินปกติ และตีเส้นสีฟ้าใหญ่ 3 เท่า เพื่อให้เห็นเด่นชัด


ขณะนี้ ทางม้าลายในไทยและต่างประเทศ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งหมดล้วนออกแบบหวังต้องการลดอุบัติเหตุ

ทางม้าลาย 3 มิติ

ในประเทศไทยมีทางม้าลาย 3 มิติ นำร่องหน้าโรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด แม้จะสร้างการรับรู้ได้เป็นอย่างดี

 

แต่ไอเดียนี้มีข้อถกเถียงว่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถเองหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้ตกใจจนเกิดอุบัติเหตุเสียเอง สุดท้ายจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แตกต่างกับในต่างประเทศ เช่น อินเดีย จีน ไอซ์แลนด์ ใช้กันมาหลายปี ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ลดอุบัติเหตุบนทางเท้าได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป สีจางลง ทำให้มิติดูลดลง

เส้นซิกแซ็กก่อนทางม้าลาย

การตีเส้นซิกแซ็กก่อนถึงทางม้าลาย 15 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่สะดุดตาก่อนถึงทางม้าลาย การตีเส้นลักษณะนี้จะทำให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกว่า ช่องทางจราจรแคบลง

 

ทำให้ต้องลดความเร็วและหยุดรถโดยอัตโนมัติ มีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ ศรีลังกา ซึ่งปัจจุบันในไทยมีใช้ในหลายพื้นที่

ทางม้าลายสีแดง

ทางม้าลายสีแดง เป็นทางม้าลายต้นแบบ โดยกรุงเทพมหานครประกาศทดลองใช้บริเวณแยกอโศกมนตรี ต้นปี 2564 ไอเดียสำคัญคือ การใช้สีแดงให้เห็นชัดเจน หากใครไม่หยุดรถหรือหยุดรถทับเส้นจะใช้กล้อง CCTV จับปรับ

 

นอกจากนี้ยังออกแบบให้ผู้ใช้รถวีลแชร์สามารถใช้ทางเท้าเชื่อมต่อทางม้าลายได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าว มีใช้เฉพาะแยกไฟแดงขนาดใหญ่เท่านั้น

ทางม้าลายแบบมีรั้ว

ที่ประเทศแคนาดา ใช้แถบวัสดุสีเหลืองไปติดตั้งที่พื้นถนน เมื่อมีคนข้ามถนน จะมีวัสดุสีเหลืองเด้งขึ้นมาเป็นรั้ว ให้คนเดินทางข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ตร.เล็งเพิ่มโทษฝ่าฝืน "ทางม้าลาย" จาก 1,000 เป็น 4,000 บาท

"แยกอโศก" 1 เดือนใช้ AI จับทำผิดวินัยจราจร 25,094 คน

รู้จัก! อุโมงค์ลอดถนนหน้าจุฬาฯ แห่งแรกของไทย ทางเลือกลดอุบัติเหตุ

กทม.ตีเส้นชะลอความเร็ว จุดชน "หมอกระต่าย" ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง