สหรัฐฯ เสริมกำลังปกป้อง "คนเอเชีย" ช่วงตรุษจีน

ต่างประเทศ
27 ม.ค. 65
13:22
384
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ เสริมกำลังปกป้อง "คนเอเชีย" ช่วงตรุษจีน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สถิติการทำร้ายร่างกายชาวเอเชียในหลายประเทศเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ซานฟรานซิสโกยกระดับการรักษาความปลอดภัยคนเชื้อสายเอเชียในช่วงตรุษจีน

ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีน บรรยากาศย่านไชน่าทาวน์ในหลายเมืองทั่วสหรัฐฯ ค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ รวมถึงในนครซาน ฟรานซิสโก เพราะขึ้นชื่อว่ามีไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดนอกภูมิภาคเอเชียและเก่าแก่ที่สุดในอเมริกาเหนือ ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่เมืองนี้มีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย มากกว่า 1 ใน 3 และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน

แต่อีกด้านหนึ่ง เมืองนี้ถือเป็นเมืองอันดับต้นๆ ที่มีข่าวการทำร้ายคนเอเชียเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้นายกเทศมนตรีต้องประกาศยกระดับการรักษาความปลอดภัยชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

นอกจากจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการจัดการกับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังแล้ว ทางการท้องถิ่นยังเตรียมเพิ่มกำลังตำรวจลาดตระเวนในย่านไชน่าทาวน์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนหน้าตรุษจีน ไปจนถึงช่วงงานเดินขบวนพาเหรดในวันที่ 19 ก.พ.นี้ แม้กรมตำรวจของเมืองจะขาดแคลนเจ้าหน้าที่จากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

ซานฟรานซิสโก ถือเป็นเมืองแรกๆ ที่ออกมายกระดับความปลอดภัยในช่วงตรุษจีนนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า จริงๆ แล้วสถานการณ์ในเมืองนี้เลวร้ายขนาดไหน

ข้อมูลจากกรมตำรวจ สถิติการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังในเมืองนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 8 ครั้งเมื่อปี 2562 เพิ่มเป็น 9 ครั้งในปี 2563 และล่าสุดเมื่อปี 2564 พุ่งสูงขึ้นเป็น 60 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ก่อเหตุเป็นคนเดียวกันมากถึง 31 ครั้ง โดยผู้ก่อเหตุคนดังกล่าวถูกตำรวจจับกุมตัวแล้วเมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค.2564


ขณะที่นครนิวยอร์ก ถือเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่อชาวเอเชียอยู่ในระดับสูง โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียถูกคนไร้บ้านผลักตกรางรถไฟ ขณะรถไฟกำลังเทียบชานชาลา จนทำให้ถูกรถไฟชนเสียชีวิต

แม้ว่าคดีนี้กรมตำรวจนิวยอร์กจะไม่ได้ระบุว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง แต่ชุมชนคนเชื้อสายเอเชียมองว่า นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงการโจมตี และการใช้ความรุนแรงต่อชาวเอเชียที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกหวาดกลัวที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน

สถิติอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก ย้อนไป 2 ปี ตัวเลขกระโดดเพิ่มสูงขึ้นจาก 28 ครั้งเป็น 129 ครั้ง เมื่อปี 2564 หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นถึง 361% ซึ่งรัฐนิวยอร์กถือเป็นรัฐที่มีรายงานเหตุการณ์ที่เกิดจากความเกลียดชัง สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากรัฐแคลิฟอร์เนีย

ขณะที่ภาพรวมของทั้งสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.2563 หรือ 3 วันหลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกโควิด-19 ว่า ไวรัสจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในชนวนเหตุจุดกระแสต่อต้านเอเชีย นับจากวันนั้นมาจนถึงวันที่ 30 ก.ย.2564 มีผู้แจ้งเหตุเข้ามา 10,370 ครั้ง แบ่งเป็นคนเชื้อสายจีนมากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่ง ตามมาด้วยเกาหลีและฟิลิปปินส์ ส่วนเชื้อสายไทยแจ้งเหตุคิดเป็นร้อยละ 1.8

ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เท่านั้น เพราะอาจมีผู้ถูกกระทำจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้แจ้งเหตุ ทำให้ไม่มีข้อมูลปรากฏในระบบ และแม้จะผ่านมามากกว่า 2 ปีนับตั้งแต่โลกรู้จักโควิด-19 แต่สถานการณ์การเลือกปฏิบัติ การเหยียดเชื้อชาติ ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังที่กระทำต่อชาวเอเชียไม่ได้ลดน้อย

ข้อมูลจากกลุ่ม Stop AAPI Hate ของสหรัฐฯ ชี้ว่า ในปี 2564 ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย 1 ใน 5 หรือคิดเป็นกว่า 4.8 ล้านคน ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดจากความเกลียดชัง ไม่ว่าจะผ่านคำพูดหรือการกระทำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง