สำรวจไลดาร์ “ศรีเทพ” สะดุด กรมศิลป์ฯ เบรกสแกนพื้นที่อุทยานฯ ศรีเทพ

สังคม
28 ม.ค. 65
09:39
3,489
Logo Thai PBS
สำรวจไลดาร์ “ศรีเทพ” สะดุด กรมศิลป์ฯ เบรกสแกนพื้นที่อุทยานฯ ศรีเทพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมศิลปากรไม่อนุมัติให้บินโดรนไลดาร์ระบบเลเซอร์แสงเหนือพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ แม้ท้องถิ่นยืนยันว่าสำรวจเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม

จากกรณีที่สภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพและสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ร่วมกันใช้โดรนไลดาร์ (Lidar) ระบบเลเซอร์แสง บินสำรวจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพและบริเวณโดยรอบ เพื่อสำรวจแหล่งโบราณสถาน และการตั้งชุมชนโบราณอย่างละเอียด ขนาดพื้นที่การสำรวจประมาณ 50 ตารางกิโลเมตรด้วยงบประมาณไม่ถึง 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา และมีกำหนดสิ้นสุดการบินสำรวจในวันที่ 1 ก.พ.2565 นั้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง "ศรีเทพ" ใช้ "โดรนไลดาร์" สำรวจเมืองโบราณครั้งแรก

ล่าสุดพบว่า ทางทีมสำรวจไม่ได้รับอนุญาตให้บินสำรวจในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพตามที่วางแผนไว้

แผนการบินสำรวจพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพในเขตอุทยานประวัตศาสตร์ศรีเทพ (อยู่ในกรอบ A) และบริเวณรอบๆ โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่รวมกันประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร

แผนการบินสำรวจพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพในเขตอุทยานประวัตศาสตร์ศรีเทพ (อยู่ในกรอบ A) และบริเวณรอบๆ โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่รวมกันประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร

แผนการบินสำรวจพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพในเขตอุทยานประวัตศาสตร์ศรีเทพ (อยู่ในกรอบ A) และบริเวณรอบๆ โดยสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพ และสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ขนาดพื้นที่รวมกันประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร

หัวหน้าชุดสำรวจพื้นที่เมืองโบราณศรีเทพด้วยโดรนไลดาร์ระบบเลเซอร์แสง ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา ในฐานะปรึกษาสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทีมสำรวจไม่สามารถบินโดรนไลดาร์ เพื่อสแกนพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ซึ่งประกอบด้วยเมืองในและเมืองนอกได้ ถึงแม้จะรอการอนุมัติจากกรมศิลปากร จนถึงนาทีสุดท้ายก็ตาม

เพราะการสำรวจโดรนไลดาร์ฯ ครั้งนี้ จะทำให้เห็นโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อย่างละเอียด เนื่องจากเมื่อกลับไปดูงานศึกษาเดิมที่มีอยู่ จะเห็นได้ว่า แหล่งโบราณคดีในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ถูกสำรวจขึ้นทะเบียนด้วยการสำรวจแบบเดินเท้า ว่ามีแหล่งโบราณคดีอยู่ในจุดใดบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ความละเอียดในการเดินสำรวจย่อมไม่ละเอียดเท่ากับเทคโนโลยีการสำรวจด้วยโดรนไลดาร์

นอกจากนี้ทีมสำรวจยังยินดีให้กรมศิลปากร สามารถดึงข้อมูลการสำรวจไปใช้ในงานศึกษาวิจัย ได้เลย พร้อมทั้งสามารถแปลภาพข้อมูลการสำรวจให้ได้ด้วย และข้อมูลใดๆ ที่กรมศิลปากรไม่ต้องการเผยแพร่ต่อสาธารณะ เนื่องจากอาจกระทบกับงานอนุรักษ์โบราณสถาน หรือแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ทางทีมสำรวจก็ยินดีไม่เผยแพร่ข้อมูลส่วนนั้นสู่สาธารณะ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับการแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกัน

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เราตกลงทำงานร่วมกันในพื้นที่ ทุกฝ่ายไม่ได้ ทำให้อีกไม่นานก็อาจจำเป็นต้องเสียงบประมาณของประเทศ เพื่อสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติมอีกครั้งโดยไม่จำเป็น

 

ดร.พชรพรกล่าวต่อว่า ในอนาคตก็จะเป็นแบบแผนว่า นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจศึกษาโบราณสถานของไทย ต้องเจอแบบแผนที่แตกต่างออกไป ตามนโยบายและดุลยพินิจของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่

หากกรมศิลปากรต้องการเป็นผู้สำรวจพื้นที่นี้เอง ก็หวังว่า ฝ่ายราชการจะดำเนินงานให้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันเห็นปัญหาการลักลอบขุดแหล่งโบราณคดีจนถึงแผนการขยายเมือง รวมถึงการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอันตรายต่อโบราณสถาน

เมื่อสอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ อธิบดีกรมศิลปากร ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า กรมศิลปากรมีแผนขอสำรวจไลดาร์ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อยู่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการของบประมาณปีงบประมาณ 2566 วงเงินประมาณ 5 ล้านบาท มาดำเนินการ ทั้งนี้วงเงิน 5 ล้านบาทนั้นอาจฟังดูมาก แต่เป็นงบประมาณที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการบินสำรวจในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ การแปลผลข้อมูล และทำเป็นแผนภาพต่างๆ หรือมีแผนดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วย

หากงบประมาณได้รับการจัดสรรตามแผนที่วางไว้ กรมศิลปากรสามารถดำเนินการสำรวจไลดาร์ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้เร็วที่สุดในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรมองว่า ไม่ได้ล่าช้าแต่อย่างใด
พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ทางกรมศิลปากรไม่อนุมติให้บินสำรวจไลดาร์ (พื้นที่ในกรอบเหลือง) ขนาดพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ทางกรมศิลปากรไม่อนุมติให้บินสำรวจไลดาร์ (พื้นที่ในกรอบเหลือง) ขนาดพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร

พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพที่ทางกรมศิลปากรไม่อนุมติให้บินสำรวจไลดาร์ (พื้นที่ในกรอบเหลือง) ขนาดพื้นที่ประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมศิลปากรยินดีทำงานกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ หรือหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ใกล้เคียงกัน

กรมศิลปากรมองว่า หน่วยงานราชการซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ควรเป็นเจ้าของข้อมูลตั้งแต่ต้น ไม่ใช่เปิดให้เอกชนหรือหน่วยงานอื่นเข้ามาสำรวจ แล้วค่อยมาดูว่าข้อมูลใดเปิดเผยต่อสาธารณชนได้หรือไม่ได้ เพราะทีมสำรวจย่อมเข้าถึงข้อมูลการสำรวจตั้งแต่ต้น

“การที่หน่วยงานอื่นๆ จะเข้ามาขอบินผ่าน หรือขอมาสำรวจโบราณสถานที่ยังสำรวจไม่พบเพราะอยู่ใต้ดิน ผมคิดว่าไม่ใช่ภารกิจหน้าที่โดยตรง ยกเว้นแต่ว่าเป็นการวิจัยร่วมกัน แต่ว่าในส่วนนี้เรายังไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น จู่ๆ จะมีข้อมูลที่เราเองก็ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ ถูกเอาออกไปภายนอก ก็อาจจะยังไม่ค่อยเหมาะสม อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเราไม่อนุญาต เพราะว่าต่อไป ในเมื่อเราได้งบประมาณมาแล้ว อาจจะมาทำงานร่วมกันก็ได้” อธิบดีกรมศิลปากรกล่าว

ความคืบหน้าล่าสุดของการบินโดรนไลดาร์ฯ สำรวจเมืองโบราณศรีเทพในครั้งนี้ของสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพและสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ คืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 50 และเตรียมสแกนพื้นที่ในทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โดยทางชุดสำรวจได้ระงับแผนบินเหนืออุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ตามคำสั่งของอธิบดีกรมศิลปากร

 

ด้านนายสหชัย แจ่มประสิทธิ์สกุล นายอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่ก็เข้าใจเหตุผลของทั้งสองฝ่าย โดยทางสภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพและสภาวัฒนธรรมจังหวัดก็มองว่า งบประมาณการบินสำรวจและแปลผลข้อมูลการสำรวจที่หามาประมาณได้ เป็นงบที่ครอบคลุมแผนการบินสำรวจอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพด้วย ขณะที่กรมศิลปากรก็มีแผนการสำรวจเป็นของตนเองเช่นกัน

นายอำเภอศรีเทพยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อทำผังเมืองอำเภอศรีเทพ ซึ่งจะเป็นผังเมืองที่กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินและถูกมาบังคับใช้ในพื้นที่อำเภอศรีเทพทั้งหมด

คาดว่าการจัดทำผังเมืองครั้งนี้ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี แต่เมื่อดูสภาพของพื้นที่ในปัจจุบันพบว่า มีการพัฒนาเมือง และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในหลายพื้นที่ ทำให้เมืองมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขาจึงคาดหวังว่าผลสำรวจไลดาร์จะช่วยให้การวางผังเมืองอำเภอศรีเทพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“หากข้อมูลการสำรวจโดรนไลดาร์ในครั้งนี้พบว่า ยังมีพื้นที่รอบนอกพื้นที่อุทยานฯ ที่มีโบราณสถานหลงเหลือและซุกซ่อนอยู่ ผมคิดว่าถ้าเราเอาข้อมูลชุดนี้มาผนวกกับการออกแบบวางผังเมืองใหม่ มันก็จะเกิดประโยชน์ ไม่เช่นนั้น ผังเมืองที่เรากำลังทำใหม่ หากเรากำหนดการใช้พื้นที่โดยที่ไม่รู้ว่าข้างล่าง (พื้นดิน) มีอะไร ข้อมูลมันก็จะไม่สอดคล้องกัน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง