กรอ.มีมติไม่อนุญาตถ่ายภาพยนตร์ “MEG 2” ในทะเลกระบี่

Logo Thai PBS
กรอ.มีมติไม่อนุญาตถ่ายภาพยนตร์  “MEG 2” ในทะเลกระบี่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะกรรมการร่วมฯ จ.กระบี่ มีมติไม่อนุญาตให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์ในทะเลกระบี่ หลังประเมินแล้วพบว่า ขัดต่อปฏิญญาท่องเที่ยว จ.กระบี่ และอาจส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ จ.กระบี่ มีมติไม่เห็นชอบให้มีการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง MEG 2 ในทะเล จ.กระบี่ หลังบริษัทถ่ายทำภาพยนตร์ประสานขอมา เพื่อขอถ่ายทำ ช่วงระหว่างวันที่ 16 เม.ย.- 9 พ.ค.นี้ โดยได้เลือกสถานที่ถ่ายทำบริเวณหาดพระนาง, หาดต้นไทร และไร่เลย์


จากการพิจารณาพบว่า กองถ่ายจะมีการสร้างรีสอร์ตจำลองบริเวณพื้นที่หาดอ่าวนาง โดยจะถ่ายทำฉากสำคัญ เช่น ฉากถ่ายทำในทะเล ฉากเฮลิคอปเตอร์ลงจอดที่หาดต้นไทร รวมทั้งฉากอื่น ๆ เช่น การขับขี่เจ็ตสกีเข้ามาช่วยเหลือคนที่หน้าหาดไร่เลย์ ซึ่งการถ่ายทำฉากดังกล่าวขัดกับ "ปฏิญญาท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่" ที่ห้ามมีกิจกรรมเจ็ตสกีเรือสกู๊ตเตอร์เรือลาก เรือกล้วย ลากร่ม ร่มชายหาด รวมทั้งจะขัดกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ พ.ศ.2559


ขณะที่นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า หากอนุญาตให้มีการถ่ายทำฉากดังกล่าวได้จะเป็นภาพจำว่า จ.กระบี่สามารถขับขี่เจ็ตสกีได้ นอกจากนี้ การก่อสร้างสะพานหน้าหาด และการปิดหาดเพื่อถ่ายทำในช่วงเกือบ 1 เดือน จะกระทบกับผู้ประกอบการนำเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวไร่เลย์

เบื้องต้น ทราบว่ากองถ่ายภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้คนประมาณ 400 คน แม้ในพื้นที่อยากให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน แต่หากสร้างความเสียหายทางธรรมชาติก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย

 

บทเรียน "อ่าวมาหยา" กับการถ่ายภาพยนตร์

สำหรับประเด็นนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่เห็นด้วยกับมติ มองว่าธรรมชาติจะไม่เสียหาย ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้เสียโอกาสสร้างรายได้

กรณีศึกษาหนึ่งที่ชัดเจน คือ "อ่าวมาหยา" สถานที่ที่โด่งดังไปทั้งโลก จากการที่บริษัทภาพยนตร์ระดับโลก เข้ามาใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลักในภาพยนตร์ The Beach แม้เมื่อ 23 ปีที่แล้ว จะมีกระแสคัดค้าน แต่สุดท้ายแล้วก็มีการอนุญาตให้ถ่ายทำ กระทั่งออกฉายในปี 2543 ด้วยทุนสร้างกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทำรายได้ไปกว่า 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4,200 ล้านบาท

ทำให้คนทั่วโลกรู้จักอ่าวมาหยา และเดินทางมาเยือนกันเป็นจำนวนมาก สร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยวได้มหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกิดจากการท่องเที่ยวเช่นกัน

นอกจากนี้ หากย้อนไประหว่างการถ่ายทำ ทีมงานได้ใช้รถเกลี่ยดินและ ปรับสภาพอ่าวมาหยาให้ดูสวยตามที่ต้องการ รวมถึงการเอาเนินทรายบนหาดออก การถอนต้นมะพร้าว และทำลายโขดหิน ทำให้ชาวบ้านเกาะพีพีเล ยื่นฟ้องผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในขณะนั้น รวมทั้งบริษัทผู้ผลิต จนกลายเป็นคดีความยืดเยื้อ

กองถ่ายฯสร้างรายได้เข้าประเทศหลายพันล้านต่อปี

แม้มีข้อวิจารณ์เรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง หากไปดูข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปีที่แล้ว ตั้งแต่มกราคม ถึง ตุลาคม แม้เป็นช่วงที่มี COVID-19 มีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยรวม 74 เรื่อง สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ 5 อันดับประเทศที่สร้างรายได้สูงสุดในการเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกากว่า 2,500 ล้านบาท เกาะฮ่องกงกว่า 280 ล้านบาท สิงคโปร์กว่า 220 ล้านบาท ฝรั่งเศสกว่า 120 ล้านบาท และจีนกว่า 85 ล้านบาท

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง