บทวิเคราะห์ : เปิดเสียที 'เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.'

การเมือง
1 ก.พ. 65
13:39
267
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เปิดเสียที 'เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.'
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เป็นอีกหนึ่งดอกที่รุกเร้าเข้าใส่รัฐบาล 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือเรื่องเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯ หลังจากถูกมองว่า ยื้อหรือแกล้งลืมนานไปแล้ว กระทั่งมีจำนวนไม่น้อยที่ลืมเรื่องนี้ไปแล้วจริงๆ

ทั้งที่เลือกตั้งพ่อเมืองคนกรุงฯ อยู่ในคิวที่ต้องทำให้เสร็จสิ้น ต่อเนื่องจากเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล และ อ.บ.ต. ซึ่งเสร็จสิ้นไปแล้ว เว้นแต่อย่างหลังสุด ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณารับรองและให้เลือกตั้งใหม่บางส่วน

จึงคงเหลือเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และสภากทม. กับเลือกตั้งนายกฯ และสภาเมืองพัทยา ที่ยังคงแต่งตัวรอเก้อเป็นแม่สายบัว ไม่รู้ว่า จะได้ฤกษ์ผานาทีจัดเลือกตั้งวันไหน

เหตุของความล่าช้า ไม่ได้มาจากความไม่พร้อมเรื่องกฎหมาย แต่มาจากสาเหตุอื่น โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังหาผู้สมัครผู้ว่ากทม.ของพรรคไม่ได้ หลังพลาดหวังจาก 'ผู้ว่าฯหมูป่า' นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร และพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร. ที่ครั้งแรกจะเลี่ยงไปสมัครกลุ่มอิสระ แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจไม่ลง เนื่ิองจากติดปัญหาคุณสมบัติผู้สมัคร

ส่วนพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.คนปัจจุบัน และมาจากอำนาจตามมาตรา 44 โดยพล.อ.ประยุทธ์แท้ๆ กลับไม่ได้รับการพิจารณาจากพรรคพปชร. ทั้งที่ยังไม่ปรากฎข้อบกพร่องผิดพลาดอะไรใหญ่ๆ บนตำแหน่งนี้

กระทั่งมีข่าวจะไปดึงคนจากพรรคอื่นมาลงสมัคร ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนประหลาดใจอย่างยิ่ง

ประกอบกับอาจทำใจไม่ได้ หากจะสละสิทธิ์ไม่ส่งคนลงสมัครในนามของพรรค เนื่องจากแม้จะเป็นสนามท้องถิ่น แต่ความสำคัญของกรุงเทพฯมีมากพอๆ กับระดับชาติ เผลอๆ อาจมากกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากเป็นทุกอย่างของประเทศ

ตั้งแต่เมืองหลวง เป็นด่านหน้าของนักเดินทางต่างประเทศ เข้าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง การค้าการลงทุน การศึกษา คมนาคม โลจิสติกส์ สาระพัด

มิหนำซ้ำ มีงบประมาณให้บริหารจัดการปีละหลายหมื่นล้านบาท เฉพาะงบปี 65 ปาไปเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

นี่กระมังที่สร้างแรงดึงดูดใจให้กับนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆจ้องตาเป็นมัน รวมทั้งพรรคพปชร.

หากทุกอย่างเป็นไปตามครรลอง และเวลาที่กำหนดหรือวางกรอบไว้ ความตื่นเต้นเร้าใจจะอยู่ที่ ใคร พรรคไหน หรือกลุ่มไหนลงสมัครบ้าง กับเรื่องแข่งขันแย่งชิงคะแนนจากคนกรุงเทพฯที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

แต่เมื่อรอแล้ว หลายพรรคเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครกันแล้ว และอีกหลายคนประกาศชัดจะลงสมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมืองแล้ว มิหนำซ้ำ ยังได้เคลื่อนไหวลงพื้นที่แนะนำตัวและพบปะกับชาวเมืองกรุงระยะหนึ่งแล้ว กลับยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากทั้งมหาดไทย ฝ่ายรัฐบาล รวมถึงกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.

ทำให้หลายคนรู้สึกว้าเหว่ วังเวง ไม่มีอะไรชัดเจน เสมือนหนึ่งกำลังจั่วลม ออกหมัดซ้ายขวาวืดวาด แต่หาคู่ชกไม่มี หาเวทียังไม่เจอ

จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาทวงถามความชัดเจนเรื่องนี้ พลันมีคนอื่นๆ ออกมาทวงถามตามมาหนาหู

นายวันชัย สอนสิริ สมาชิกวุฒิสภา นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ควบคุมดูแล กทม. และอีกหลายคน ไม่นับ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมาย และ 'บิ๊กป็อก' พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ที่กำกับดูแล กทม.

เมื่อพิจารณาจากกรอบเวลาที่ พล.อ.อนุพงษ์ แจกแจง ระหว่างตอบกระทู้ ส.ว. สะท้อนว่า กระทรวงมหาดไทยและรัฐบาล มีข้อมูลและความชัดเจนเรื่องนี้อยู่ระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่น่าแปลกใจ ที่ข้อมูลหรือกรอบเวลาเหล่านี้ ไม่เคยมีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้รับทราบ โดยไม่มีเหตุผล

ยิ่งทำให้การตั้งข้อสังเกตถึงความไม่พร้อมของรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พปชร.ที่เป็นพรรคแกนหลักของรัฐบาล จนนำไปสู่การยื้อเวลา และเตะถ่วงเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่ากทม. ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น

ขณะที่กกต.ซึ่งต้องติดต่อ ประสานหารือ รวมถึงเสนอช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อรัฐบาลก่อนตัดสินใจกำหนดวันที่ลงตัว ก็ดูเหมือนจะไม่เคยแย้มพรายเรื่องสำคัญนี้เช่นกัน การจะอ้างเหตุผลว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลฝ่ายเดียว ย่อมพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก และอาจถูกมองย้อนแย้งได้ว่า มีนัยหวังเอื้อประโยชน์ให้ใคร กลุ่มใด หรือคณะใดหรือไม่

เลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯ เป็นเรื่องใหญ่และมีความสำคัญมากกว่าจะปิดบังซ่อนเร้น แต่ต้องเปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และมีประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะในฐานะเมืองหลวงของประเทศ และเป็นศูนย์กลางเกือบทุกอย่างดังที่กล่าวถึงข้างต้น

เลือกผู้ว่าฯกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะคนกรุงเทพฯ แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง