เตือน! เลี้ยงลูกด้วยไส้กรอกไร้ยี่ห้อเสี่ยง "โซเดียมไนไตรต์" ถึงตาย

สังคม
2 ก.พ. 65
11:58
857
Logo Thai PBS
เตือน! เลี้ยงลูกด้วยไส้กรอกไร้ยี่ห้อเสี่ยง "โซเดียมไนไตรต์" ถึงตาย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รองอธิบดีกรมอนามัย เตือนพ่อแม่เลี่ยงซื้อไส้กรอกที่มีสีแดงเข้ม ชมพูเข้ม ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน หลังพบเด็กใน 5 จังหวัดคือเชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี กาญจนบุรีและตรังป่วย "ภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย" ระบุมีสารโซเดียมไนไตรต์เกินมาตรฐาน กินมากถึงตายได้

กรณีศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี เตือนการบริโภคไส้กรอกที่ปนเปื้อน มีสารไนเตรทสูง จนทำให้เด็กที่กินเข้าไปป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเมีย ขณะนี้พบการป่วยยืนยันอยู่ที่ 8 คนแล้ว

วันนี้ (2 ก.พ.2565) เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และโรงพยาบาลวังวิเศษ เข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลูกชิ้น ไส้กรอก ภายในตลาดคลองชี อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ซึ่งผู้ปกครองของเด็กที่ป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน หรือภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน อ้างว่ามาซื้อไส้กรอกไปให้เด็กรับประทาน ก่อนจะป่วยอย่างฉับพลัน

แต่ปรากฎว่าไม่พบไส้กรอกดังกล่าว เจ้าของร้านบอกว่า ขายหมดแล้ว เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงเก็บตัวอย่างไส้กรอกอื่นๆไปตรวจสอบ สำหรับไส้กรอกที่ผู้ปกครองซื้อไป ไม่มียี่ห้อ และเลขทะเบียน อย. เจ้าหน้าที่จึงเตือนให้ประชาชน พ่อค้า แม่ค้า ซื้อขายซื้อสินค้าที่มียี่ห้อ เลขทะเบียน อย.กำกับ ระบุชื่อบริษัท แหล่งผลิต ปริมาณ และวันเวลาหมดอายุ เพื่อความปลอดภัย

แต่การเฝ้าระวังเด็กป่วย อาจจะยังต้องดำเนินต่อไป เพราะเจ้าหน้าที่พบว่า ไส้กรอกชนิดที่เกิดปัญหา ส่งเข้ามาขายในจ.ตรัง จำนวน 80 แพ็คกระจายไปในอ.สิเกา อ.วังวิเศษ และอ.ห้วยยอด ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง สั่งเฝ้าระวังเด็กใน 3 อำเภอนี้เป็นพิเศษ 

พบเด็กป่วยจากการกินไส้กรอกแล้ว 8 คน 

ขณะที่ศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานข้อมูลถึง 29 ม.ค.ที่ผ่านมา มีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบินนีเนีย 8 คนอยู่ที่จังหวัดตรัง 3 คน เชียงใหม่ 2 คน เพชรบุรี 1 คน สระบุรี 1 คน และ กาญจนบุรี 1 คน โดยไส้กรอกที่พบว่าทำให้เด็กป่วย มีอย่างน้อย 2 ลักษณะ และได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบต่อ 

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า ไส้กรอกด้อยคุณภาพส่งผลเกิดภาวะเมธฮีโมโกลบิน เพราะในไส้กรอกทำมาจากเนื้อสัตว์แปรรูป แต่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ใช้สารเคมีหลายตัวในการผลิต มีการใช้สารโซเดียมไนไตรต์ หรือโปแตสเซียมไนไตรต์ กลุ่มสารกันบูดที่ยืดอายุ และทำให้สีไส้กรอกน่ากิน

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เวลาซื้อต้องสังเกตผลิตภัณฑ์ว่ายี่ห้อไหน มีสารกลุ่มนี้เกินมาตรฐานหรือไม่ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเพราะต้องส่งตรวจ ดังนั้น คำแนะนำง่ายคือพ่อแม่ต้องเลี่ยงซื้อไส้กรอกที่มีสีแดงเข้ม สีขมพูเข้มจัด เลือกสีตามธรรมชาติและให้สังเกตรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์ เพราะจะมีสถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ และควรต้องมีเครื่องหมายรับรองจาก อย. มอก.และอื่นๆที่รับรอง

เด็กเกิดภาวะนี้ อาจมาจากไส้กรอกจะมีสารเกินมาตรฐาน แนะนำพ่อแม่สังเกตอาการเบื้องต้นคือ ผิวหนัง ปลายมือ ปลายเท้า ริมฝีปากมีสีเขียว แต่ถ้ารุนแรงมากจะหายใจลำบากเหนื่อยง่าย เวียนศีรษะ เป็นลม ถ้าแรงมากหายใจเร็ว และชักได้ ถ้ารับมากเกินพิกัดจะเสียชีวิต

สำหรับภาวะ เมธฮีโมโกลบิน เป็นภาวะที่ฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ถูกออกซิไดช์โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น เมธฮีโมโกลบินทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว เขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พบเด็กป่วย "เมทฮีโมโกลบิน" 6 คน กินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง