มุมมองเห็นต่างข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท

เศรษฐกิจ
3 ก.พ. 65
08:39
1,486
Logo Thai PBS
มุมมองเห็นต่างข้อเสนอปรับค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขณะที่นักวิชาการและภาคเอกชนมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงนี้อาจยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

ราคาสินค้าหลายรายการที่ปรับขึ้นราคาในช่วงนี้ เช่น เนื้อหมู น้ำมันปาล์ม ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าเดินทาง ที่ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งผู้ใช้แรงงานบางคนบอกว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดผลกระทบได้ เพราะหากมีรายได้เพิ่มจะทำให้สามารถซื้อสินค้าได้มากขึ้น

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ ซึ่งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ระบุว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ตัวเลขจะเป็น 492 บาทตามที่ คสรท.เสนอหรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ แต่จะเร่งให้เร็วที่สุด

ขณะที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ราคาสินค้า รวมไปถึงค่าครองชีพต่างๆ หากพิจารณาในช่วงเวลานี้เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว อัตราการว่างงานยังสูงถึงร้อยละ 2.3 สูงสุดในรอบ 14 ปี จากเดิมที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.7-1

ส่วนภาคท่องเที่ยวและบริการยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยปี 2564 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 400,000 คน จากที่เคยมา 40 ล้านคนต่อปี ส่วนกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดเหลือเพียงร้อยละ 63-65 ปัจจัยทั้งหมดสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอทั้งภาคแรงงานและภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ มาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ราคาพลังงาน ค่าขนส่ง ที่ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และเห็นว่าเป็นเพียงชั่วคราว ซึ่งรัฐบาลได้ช่วยเหลือผ่านโครงการคนละครึ่ง ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อได้

ด้าน รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงนี้จะเป็นปัจจัยเชิงลบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจในเวลานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอ่อนแอและการจ้างงานยังไม่กลับมา การปรับค่าจ้างจะเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจปลดคนงานเพื่อลดต้นทุน

พร้อมเสนอแนวทางเพื่อช่วยผู้ประกอบการและประชาชนด้วยการตรึงราคาน้ำมัน ลดภาษีนำเข้าสินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง และการดูแลค่าขนส่ง การคืนภาษีให้เร็ว การตรึงค่า FT การเร่งฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง การผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ธุรกิจมีโอกาสในการหารายได้ ส่วนการปรับค่าจ้างควรปรับเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย

อ่านข่าวอื่นๆ

"วิจัยกรุงศรี" เชื่อรัฐอัดฉีดกระตุ้นใช้จ่ายฟื้นเศรษฐกิจ

"คนละครึ่ง" เฟส 4 เปิดยืนยันสิทธิคนเก่า รับ 1,200 บาท

ร้องสายด่วน 1569 เดือน ม.ค. 303 เรื่อง ส่วนใหญ่ไม่ติดป้ายราคา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง